สธ.ไทยไต่อันดับ 27 ของโลกมีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ
กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพอันดับ 27 ของโลก และเป็นอันดับที่ 9 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อประชากร 1 คน ประมาณ 7,086 บาท และอายุเฉลี่ย 75.1 ปี
กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพอันดับ 27 ของโลก และเป็นอันดับที่ 9 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อประชากร 1 คน ประมาณ 7,086 บาท และอายุเฉลี่ย 75.1 ปี
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักข่าว บลูมเบิร์กได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ (health care efficiency index) เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ โดยคำนวณเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศล่าสุดปี พ.ศ.2561 พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลกจาก 56 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2560 ซึ่งอยู่ในอันดับ 41 หรืออันดับดีขึ้นมากถึง 14 อันดับ นับเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดในดัชนีนี้
โดยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อประชากร 1 คนนั้น ลดลงอยู่ที่ 219 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,086 บาท และอายุเฉลี่ยของประชากรไทยในปีนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่าเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย ทั้งนี้ หากจัดอันดับภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และจีน
สำหรับประเทศที่มีดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพปัจจุบันที่ดีที่สุด 5 อันดับ คือ ฮ่องกง รองลงมาคือ สิงคโปร์ สเปน อิตาลี เกาหลีใต้ โดยฮ่องกงมีค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพต่อประชากร 1 คนที่ 2,222 ดอลลาร์ หรือประมาณ 7.19 หมื่นบาท และมีอายุคาดเฉลี่ยที่ 84.3 ปี
************************************** 23 กันยายน 2561
เว็บไซต์รัฐบาลไทย เผยแพร่
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงแก่ผู้สื่อข่าวในวันเดียวกัน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้เปิดเผยข้อมูลดัชนีความมีประสิทธิภาพด้านระบบดูแลสุขภาพของโลกปี 2018 โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 56 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในอันดับ 41 ถึง 14 อันดับ และนับเป็นประเทศที่เลื่อนอันดับมากที่สุดในครั้งนี้ ซึ่ง นายกฯ พึงพอใจการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของไทย จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อคนลดลงถึงร้อยละ 40 คิดเป็น 219 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,086 บาท ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี จากเดิมที่ 74.6 เมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวพิจารณาจาก 1 .ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ เช่น การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การวางแผนครอบครัว กิจกรรมด้านโภชนาการ การรักษาฉุกเฉิน เป็นต้น 2.อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรในประเทศที่ไม่ต่ำกว่า 70 ปี 3.GDP ต่อหัวมากกว่า 5,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 162,000 บาทต่อปี และ 4.ประเทศที่มีประชากรไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน โดยนายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า องค์การอนามัยโลกชื่นชม ประเทศไทยว่า เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง
ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559 – 2568) ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) การบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) การศึกษา วิชาการ และงานวิจัย (Academic Hub) ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการเป็นศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้บริการทางการแพทย์จำนวนมาก เพราะไทยมีจุดแข็งหลายประการ เช่น ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมาก การบริการดี มีจำนวนโรงพยาบาลมาตรฐานมาก และการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับรายงานด้วยว่า Wall Street Journal สื่อสายเศรษฐกิจที่นักลงทุนทั่วโลกสนใจติดตามข้อมูลจำนวนมาก ได้เผยแพร่บทความ เกี่ยวกับประเทศไทย โดยระบุว่าแม้ในช่วง 20 ปีก่อน ไทยจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และเงินบาทไทย มีแนวโน้มสดใส รวมทั้งกำลังกลายเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นผู้ให้ทุน มากกว่าที่จะขอรับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ
matemnews.com
23 กันยายน 2561