Home ข่าวทั่วไปรอบวัน กสม. ผลักดันธุรกิจโรงแรมไทยและการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต สู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

กสม. ผลักดันธุรกิจโรงแรมไทยและการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต สู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

484
0
SHARE
วันที่ 27ก.ย.61 ที่ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ธุรกิจการโรงแรมไทยและท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดยมีนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมด้วยนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการ กสม. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ผู้บริหารธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดทะเลอันดามัน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน
นายวัส กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมไทยกับการเคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนคือการดูแลทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ดังนั้นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันอย่างสมดุล สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เป้าหมายดังกล่าวเปรียบเสมือนแผนแม่บทระดับโลกที่กำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะ 15 ปีข้างหน้า
ประธาน กสม. กล่าวว่า การดำเนินกิจการของภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ตลอดไปจนถึงผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย ซึ่ง กสม. ได้จัดทำโครงการเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 และได้กำหนดให้ “ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต” เป็นโครงการนำร่องในการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา
“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน พฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตะวันตก ไม่ได้คำนึงเพียงคุณภาพของสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังดูตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงระดับนโยบายว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ หรือการประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือไม่ หากบริษัทหรือโรงแรมใดมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคก็อาจไม่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการแม้ว่าจะมีคุณภาพดีก็ตาม และอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพของตลาดการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายวัส ระบุ
นายวัส กล่าวด้วยว่า การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมในพื้นที่กลุ่มทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะได้เรียนรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีของการผนวกเอาหลักการชี้แนะฯ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของบริษัทอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยลดปัญหาสังคมทั้งในเรื่องของปัญหาแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่กระทบต่อวิถีของชุมชนในพื้นที่ คนในสังคมก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง สามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ตนเชื่อว่า การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว เป็นการส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมอย่างมั่นคง (stable) และยั่งยืน (sustainable) ทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นผลดียิ่งต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย
ทางด้านผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรมที่สมัครใจเข้าร่วม 5 แห่งแรกอันประกอบด้วย โรงแรมอันดารา รีสอร์ท เรสซิเด้นซ์  โรงแรมเดอะ วิจิตร รีสอร์ท ภูเก็ต โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ  โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง และ โรงแรมในยาง ปาร์ค รีสอร์ท ได้เห็นพ้องต้องกันว่า “ผลจากการนำหลักการด้านการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนเข้ามาในการบริหารงานโรงแรม ได้ถูกใช้เริ่มต้นจากพนักงานไปสู่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลอดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งรวมถึงชุมชนโดยรอบและการจัดการภายในโรงแรมเอง ทำให้ทกุคนมั่นใจว่า การดำเนินธุรกิจจะปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งช่วยในด้านการควบคุมและลดความเสี่ยงได้อย่างรอบด้าน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตอย่างมั่นคงและยังยืน โดยที่ผู้ประกอบการโรงแรมเองก็ไม่ได้ต้องมีต้นทุนในการเข้าร่วมเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตามหลักการนี้มากนัก ขอเพียงแต่ว่าผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำงานตรวจสอบการดำเนินงานของโรงแรมว่ามีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในด้านใดบ้างและร่วมมือกันหาแนวทางในการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง”