หลังจากอัยการเจ้าของคดี แจ้งให้ นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่มาพบบนชั้น 11 สำนักงาน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อตอนเช้าวันที่ 10 ต.ค.2561 ว่า อัยการสั่งฟ้องคดีความผิดร่วมกันฟอกเงินปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร และนำตัวออกไปยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ทีมโฆษก 2 คน นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ กับ นายประยุทธ เพชรคุณ ตำแหน่งรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ก็เปิดแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนอย่างละเอียด
นายธรัมพ์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนไว้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 กล่าวหา
นางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนา ผู้ต้องหาที่ 1,
นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ผู้ต้องหาที่ 2,
นายวันชัย หงษ์เหิน สามีของนางกาญจนาภา ผู้ต้องหาที่ 3
นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
ในสำนวนคดีนี้ได้แบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือรับโอนเช็ค 26 ล้านบาท ซึ่งอัยการสั่งฟ้องนางกาญจนาภา ผู้ต้องหาที่ 2 กับนายวันชัย ผู้ต้องหาที่ 3 ในความผิดฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 รวมถึง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ.2526 มาตรา 4 โดยอัยการได้มีคำสั่งไม่สั่งฟ้องนางเกศินี ผู้ต้องหาที่ 1 และนายพานทองแท้ ผู้ต้องหาที่ 4 ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน กรณีเช็คจำนวน 26 ล้านบาท
สำนวนส่วนที่สอง คือ รับโอนเช็ค 10 ล้านบาท ในวันนี้ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้มีคำสั่งฟ้องนายพานทองแท้ ผู้ต้องหาที่ 4 เพียงคนเดียว ฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 รวมถึง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ.2526 มาตรา 4
กลุ่มที่รับโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดนั้น เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ส่งสำนวนกล่าวหาผู้ต้องหารวมแล้ว 159 คน กระทำผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินมาให้อัยการพิจารณาเพิ่มเติมด้วย โดยในส่วนของผู้โอนเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดนั้น อัยการก็ได้ยื่นฟ้อง “นายวิชัย กฤษดาธานนท์” กับพวกรวม 13 คน ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปแล้ว หลังจากพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ส่งสำนวนกล่าวหานายวิชัยมาให้อัยการพิจารณาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2560
คำถามถึงเหตุสั่งไม่ฟ้องและอายุความดำเนินคดีว่า เหตุผลการสั่งไม่ฟ้องนางเกศินี ผู้ต้องหาที่ 1 และนายพานทองแท้ ผู้ต้องหาที่ 4 ในส่วนเช็ค 26 ล้านบาท คำถามนี้นายประยุทธ รองโฆษกฯ เป็นผู้ตอบ ว่า
ขณะนี้ไม่สามารถจะระบุรายละเอียดทั้งหมดได้ เนื่องจากกระบวนการสั่งคดียังไม่ถึงที่สุด เพราะอัยการยังจะต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นสั่งไม่ฟ้อง กลับไปให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอพิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่อย่างไร หากพนักงานสอบสวนเห็นพ้องกับความเห็นของอัยการคือสั่งไม่ฟ้อง คดีก็จะเป็นไปตามที่สั่งไว้ครั้งแรก แต่ถ้าพนักงานสอบสวนมีความเห็นแย้งยืนยันให้ฟ้อง จะต้องส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย โดยในส่วนของนางเกศินี ผู้ต้องหาที่ 1 นั้น ตามสำนวนพนักงานสอบสวนก็มีความเห็นควรไม่ฟ้องมาอยู่แล้ว แต่ในส่วนของนายพานทองแท้ ผู้ต้องหาที่ 4 พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นควรสั่งฟ้อง รับเช็คโอนเงินมาทั้ง 2 ฉบับ คือ 26 ล้านบาทและ 10 ล้านบาท อัยการได้เร่งส่งสำนวนคืนดีเอสไอแล้ว และคาดว่าดีเอสไอจะพิจารณาความเห็นโดยเร็วตามกรอบเวลาภายในอายุความ พร้อมส่งสำนวนและความเห็นเกี่ยวกับการสั่งคดีเช็คเงินจำนวน 26 ล้านบาท กลับมาให้อัยการได้ทันเวลาอายุความดังกล่าว ซึ่งความผิดฐานฟอกเงินมีโทษจำคุก 1-10 ปี อายุความไม่เกิน 15 ปี คดีดังกล่าวเกิดในช่วงระหว่างปี 2547-2548 ก็จะเหลือเวลาดำเนินคดีอีกราวปีเศษ สำหรับผู้ต้องหาในกลุ่มรับโอนเงินอีก 159 คน คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากอัยการมีคำสั่งจะแถลงให้ทราบต่อไป
matemnews.com
10 ตุลาคม 2561