นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ศาลอุทธรณ์ เมื่อบ่ายวันที่ 19 ต.ค.2561 แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่า
“ในต่างประเทศตื่นตัวที่จะป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ จึงทำกฎหมายเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้น หลักการเดิมถ้าบุคคลใดหรือองค์กรใดกระทำผิด รัฐมีหน้าที่เข้าตรวจสอบหาเส้นทาง แต่วิธีการยังมีหลักการที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าจะขอเข้าค้นต้องผ่านการกลั่นกรองของศาล เหมือนกับการจับกุมตรวจค้นต้องขอหมายศาล เพื่อกลั่นกรองว่าเจ้าหน้าที่มีเหตุสมควรที่ต้องกระทำหรือไม่ ส่วนใหญ่ต้องอ้างว่ามีความผิดเกิดขึ้น เมื่อผิดก็สามารถตรวจค้นมีคดีขึ้นมา แต่หลักการตามร่างกฎหมายใหม่ คือ ไม่ต้องมีคดี คณะกรรมการเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีอำนาจเยอะ โดยจะมีการตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำ บังคับบอกรหัสเพื่อเปิดข้อมูลได้หมด โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองของศาล ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ ปัญหาคืออำนาจอย่างนี้ ต่างประเทศซึ่งมีการกระทำผิดรุนแรงทางไซเบอร์ เขายังไม่กล้าออกกฎหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น จับกุม ยึดโดยไม่มีหมายจับหมายค้น คดียังไม่เกิดแค่สงสัยก็สามารถเข้าไปได้หมดทั้งหน่วยงานเอกชน บริษัท ประชาชนทั่วไป เข้าไปยึดเพื่อตรวจสอบแจ้งข้อหาทีหลังโดยไม่ต้องมีหมาย ยึดแล้วเอาข้อมูลไป ระบบนี้ไม่ใช่ระบบสากล ปกติแล้วนิติรัฐจะต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล เพราะตัวบุคคลถ้ามีอำนาจมากไปจะทุจริตใช้อำนาจในทางมิชอบได้ ถ้ามองก้าวหน้าไปในทางการเมืองอาจใช้กฎหมายเข้ามาล่วงละเมิดแย่งชิงความได้เปรียบ ซึ่งถือว่าอันตรายมากต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรเร่งรีบออกฎหมายฉบับนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการแก้ไขความมั่นคงของประเทศ แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ที่ประเทศต่างๆ เขาจะมาคบกับประเทศเราหรือเปล่า ถ้าเรามีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างรุนแรง สหรัฐอเมริกาเขาเพ่งเล็งในเรื่องนี้มาก อย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกาตั้งกำแพงภาษีสูงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาเหตุหนึ่งเพราะเขาอ้างว่ามีการล่วงรู้หรือเอาข้อมูลในลักษณะนี้ ขณะที่เราก็กำลังที่จะเปิดโอกาสให้มีการโจมตีข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้”
matemnews.com
19 ตุลาคม 2561