Home ข่าวทั่วไปรอบวัน “วิชัย ศรีวัฒนประภา” จากเด็กปั๊มสู่เจ้าของอาณาจักรแสนล้าน

“วิชัย ศรีวัฒนประภา” จากเด็กปั๊มสู่เจ้าของอาณาจักรแสนล้าน

885
0
SHARE

คืนวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคมตามเวลาประเทศอังกฤษ ‘เจ้าสัววิชัย’ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ กำลังเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านด้วยเฮลิคอปเตอร์หลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าชมเกมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนัดเปิดบ้านเสมอเวสต์แฮม 1-1 เหมือนที่เขาทำเป็นปกติในทุกๆ แมตช์เดย์

เคราะห์ร้ายที่เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ สูญเสียการควบคุม ใบพัดด้านหลังไม่ทำงาน ตัวเครื่องร่วงหล่นจากฟ้าและเกิดไฟลุกไหม้ทันที ในเวลาต่อมาสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ และทางการได้ออกมาเปิดเผยว่า วิชัยและผู้ติดตามพร้อมนักบินรวม 5 คนได้เสียชีวิตทันทีจากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าว

การสูญเสีย คนดีและคนเก่งไปแบบนี้ แน่นอนว่าต้องเต็มไปด้วยความโศกเศร้าของคนรู้จัก วันนี้ ทางมาเต็มนิวส์ จึงขอย้อนเวลา กว่า ‘เจ้าสัววิชัย’ จะเป็นเจ้าของทุกอย่างด้วยทรัพย์สินรวมกว่าแสนล้าน จริงๆแล้วไม่ง่ายเลย

วิชัยเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรครั้งแรกเมื่อปี 2532 จากการเปิดกิจการในฮ่องกง ก่อนจะกลับมาทำธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อบริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด ที่อาคารมหาทุน พลาซ่า โดยได้ไอเดียธุรกิจ และแนวคิดจากช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ แล้วเห็นคนไทยซื้อสินค้าจากร้านขายของปลอดภาษีที่สนามบินฮ่องกงกลับมาฝากครอบครัว

ในปี 2533 ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของวิชัยได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในนามบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เพื่อจุดประสงค์ของการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี

กระทั่งในปี 2536-2545 คิง เพาเวอร์ ก็ได้รับสัมปทานจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ให้เข้าบริหารร้านค้าปลอดภาษี จำหน่ายสินค้าทั่วไปที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ และในปี 2549 ก็ได้รับสัมปทานเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ก่อนขยายพื้นที่ประกอบธุรกิจในประเทศอื่นๆ รวมถึงบนเครื่องบินของการบินไทยและแอร์เอเชีย

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปัจจุบันคิง เพาเวอร์ มีการจดทะเบียนออกเป็น 11 บริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่

1. บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด (จดทะเบียน 2533): จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 5,467,685,779 บาท กำไรสุทธิ 248,634,307 บาท

2. บริษัท คิง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (จดทะเบียน 2538):

ร้านค้าขายปลีกและร้านค้าปลอดภาษีอากรบริการจัดการ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 56,151,747,352 บาท กำไรสุทธิ 3,944,996,923 บาท

3. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (จดทะเบียน 2539):

จำหน่ายสินค้าปลอดอากรให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 35,633,729,034 บาท กำไรสุทธิ 1,838,120,075 บาท

4. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (จดทะเบียน 2540):

ให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 863,414,138 บาท กำไรสุทธิ 117,879,204 บาท

5. บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2541):

ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบิน โดยสารระหว่างประเทศ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 404,754,909 บาท ขาดทุนสุทธิ -144,125,217 บาท

6. บริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด (จดทะเบียน 2542):

ตัวแทนขายสินค้าทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 38,403,124 บาท ขาดทุนสุทธิ -20,024,198 บาท

7. บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2547):

โรงแรมและภัตตาคาร

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 665,310,294 บาท กำไรสุทธิ 42,597,904 บาท

8. บริษัท คิง เพาเวอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2548):

ให้บริการด้านการบริหาร และการจัดการด้านต่างๆ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 9,105,387 บาท กำไรสุทธิ 703,535 บาท

9. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (จดทะเบียน 2548):

บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 5,324,105,976 บาท กำไรสุทธิ 1,764,802,470 บาท

10. บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด (จดทะเบียน 2557):

ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 216,701 บาท กำไรสุทธิ 162,083 บาท

11. บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด (จดทะเบียน 2557):

ประกอบกิจการค้า จัดสรร ปลูก สร้าง จำนอง โอน ขายฝาก ให้แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า บริหารอสังหาริมทรัพย์

ผลประกอบการปี 2560: ‘ยังไม่ส่งงบการเงิน’

โดยในกลุ่ม 11 บริษัทของคิง เพาเวอร์ เบื้องต้น มีอยู่ 4 บริษัทที่วิชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดบริหารได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด

ขณะที่จากการเปิดเผยโดยนิตยสาร Forbes เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าวิชัยอยู่ในลำดับที่ 5 ของเศรษฐีไทยประจำปี 2561 และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมพบว่า เขามีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองรวมกว่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 162,600 ล้านบาท

ภาพจำในช่วง 7-8 ปีหลังสุดที่คนส่วนใหญ่ทั้งไทยและชาวต่างชาติมีต่อวิชัยคือการเป็นเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ พาทีมเล็กๆ จากเมืองเลสเตอร์ ย่านอีสต์มิดแลนด์ของอังกฤษก้าวขึ้นมาจากลีกฟุตบอลแชมเปี้ยนชิป เถลิงบัลลังก์แชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสมัยแรกของสโมสร สร้างประวัติศาสตร์ และตำนานบทใหม่ให้กับวงการฟุตบอลโลก

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เป็นทั้งที่ ‘ยอมรับ’ และ ‘ที่รัก’ ของคนทุกคน เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ถาโถมพุ่งเข้าใส่ชนิดไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ประกาศเข้าเทกโอเวอร์สโมสรแบบ 100% ในปี 2011 กับสื่ออังกฤษที่ขึ้นชื่อในด้านการขุดคุ้ย และการตั้งประเด็นถกเถียงที่ไม่กลัวเกรงใครหน้าไหน

ครั้งแรกที่วิชัยตัดสินใจซื้อสโมสรฟุตบอล ภาพจำที่อาจจะไม่ค่อยดีสักเท่าไรที่สื่อมวลชนอังกฤษเคยมีต่อนักธุรกิจเอเชียที่ตบเท้าก้าวเข้ามาในวงการฟุตบอลก็ผุดขึ้นมาโดยทันที เขาถูกครหาและปรามาสว่าเป็นแค่นักธุรกิจที่ไม่จริงจังกับฟุตบอล มองทุกอย่างเป็นเงิน และทุกอย่างก็คงเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ช้าหรือเร็วก็อาจต้องลาจากกันไปเหมือนนายทุนรายอื่นๆ

แต่สิ่งที่วิชัยทำ และลงมือปฏิบัติให้เห็นกลับตรงกันข้าม เขาพิสูจน์แล้วว่ากีฬาฟุตบอลคือสิ่งที่รักและหลงใหลจริงๆ ครั้งหนึ่งในวันงานแถลงข่าวเข้ารับตำแหน่งประธานสโมสรต่อจากมิลาน แมนดาริช เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า ความตั้งใจของเขากับเดอะฟ็อกซ์ คือการพาทีมประสบความสำเร็จ และกลับมาในที่ที่ควรอยู่อย่างพรีเมียร์ลีกให้ได้

“เรามีกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับสโมสร และรากฐานแห่งความสำเร็จที่ได้ถูกร่างเอาไว้ เหตุผลสำคัญลำดับต้นๆ ที่ผมตัดสินใจเข้าลงทุนในเลสเตอร์ไม่ใช่แค่เพราะแพสชันที่ผมมีกับกีฬาฟุตบอล แต่เป็นเพราะปรารถนาอันแรงกล้าที่ผมอยากจะพาสโมสรฟุตบอลแห่งนี้กลับขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้” วิชัย กล่าว

 

 

ข้อมูลโดย the standard