Home ข่าวประชาสัมพันธ์ ทิพยประกันภัย ปรับแผนรับประกันครูตามโครงการ ชพค. คิดเบี้ยเป็นรายปีแทนของเดิมคิดยาว 9 ปี

ทิพยประกันภัย ปรับแผนรับประกันครูตามโครงการ ชพค. คิดเบี้ยเป็นรายปีแทนของเดิมคิดยาว 9 ปี

615
0
SHARE

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับรูปแบบการคิดเบี้ยประกันของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกครู (ชพค.) ใหม่ เป็นแบบรายปีและค่าเบี้ยเฉลี่ยยังเท่าเดิม จากรูปแบบเดิมที่จะเก็บเบี้ยครั้งเดียวและคุ้มครองยาว 9 ปี

 

“เราเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในปีนี้ก็จะค่อยๆ ทยอยครบสัญญา 9 ปีแล้ว แต่พอมีปัญหาและกล่าวหาเรามาก ก็เพื่อความสบายใจกับทุกฝ่าย เราจึงแจ้งไปว่าถ้าครูท่านใดต้องการทำประกันต่อก็ให้แจ้งมาได้เลย แต่เราจะปรับการคิดเบี้ยเป็นรายปีแล้ว และเฉลี่ยค่าเบี้ยก็คงที่เท่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต่ออายุกรมธรรม์แล้ว 90% เพราะเราเองไม่ได้คิดค่าเบี้ยเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากยิ่งแพงเหมือนกันประกันชีวิต” นายสมพร กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็พร้อมถอนตัวออกจากโครงการ ชพค. และเปิดโอกาสให้ทาง ชพค. ไปเจรจาหาบริษัทประกันภัยอื่นมารับประกันได้ แต่ก็ยังไม่สามารถหาได้ เนื่องจากบริษัทประกันภัยรายใหม่ได้เสนอค่าเบี้ยแพงกว่าของทิพยประกันภัยถึงสองเท่า ดังนั้น ทิพยประกันภัยจึงได้ขยายเวลาให้ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่ตกลงกันว่าจะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้

 

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงการนี้ เราก็ไม่ได้กำไรอะไร ทำไปก็แค่เสมอตัว แต่ที่เราตัดสินใจทำ ก็เพราะต้องการช่วยเหลือครูที่เขามีความจำเป็นต้องการกู้เงินและใช้กรมธรรม์เป็นตัวค้ำประกันมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาครูก็ค้ำกันเองไปมาจนเต็มไปหมดแล้ว” นายสมพร กล่าว

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันทิพยประกันภัย ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารออมสินและทายาทของผู้เสียชีวิตจำนวน 24,740 ราย คิดเป็นเงินค่าสินไหมรวมทั้งสิ้น 12,643 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการจ่ายคืนให้ทายาทในกรณีมีส่วนที่เกินจากมูลหนี้ที่คงค้างที่ 773 ล้านบาท

 

สำหรับโครงการดังกล่าวกำหนดให้ครูต้องการผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามวงเงินกู้ที่ธนาคารออมสินกำหนด ซึ่งต้องใช้คนค้ำประกันตั้งแต่ 5-10 คน เพื่อ ค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือแทน ทำให้ข้าราชการครูหาคนค้ำประกันได้ยาก ดังนั้น ทิพยประกันภัยจึงได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยแบบความคุ้มครองทุนประกันเต็มวงเงินกู้แบบทุนประกันคงที่ เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกันไม่พอมูลหนี้คงเหลือ โดยบริษัทจะเป็นผู้ชำระคืนเงินกู้ที่เหลือให้แก่ธนาคารออมสินเต็มจำนวน เมื่อเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต

 

 

ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย กำหนดเงื่อนไขรับประกันให้แก่ข้าราชการครูทุกราย โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 65 ปี คิดเบี้ยประกันอัตราเดียว