นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อบ่ายวันที่ 8 พ.ย.2561 ถึงการเตรียมการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเลือกตั้ง ว่า
สถานภาพของรัฐบาลปัจจุบัน จากการที่รัฐบาลหารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2561 ว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เว้นแต่จะมีเหตุใดเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องพ้นไป เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คสช.และรัฐบาลนี้อยู่แบบมีอำนาจเต็มต่อไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนรับหน้าที่
การปฏิบัติตัวของ ครม.ต้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.รัฐมนตรี 4 คนที่ไปเกี่ยวข้องกับการทำงานในฐานะพรรคการเมือง แม้ไม่มีความเสียหายเรื่องของกฎหมาย แต่ต้องดูเรื่องมารยาท โดยให้ระวังเรื่องการใช้เวลาราชการ ทรัพย์สินทางราชการ บุคลากรของรัฐ และสถานที่ทางราชการซึ่งต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของพรรคและทางการเมืองที่ไม่ใช่รัฐบาล
2.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเหมือนที่ผ่านมา โดยวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ ให้คุณให้โทษแก่ผู้ใด หรือหวังผลในทางการเมือง
ปฏิทินการทำงาน หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.2561 จะเริ่มนับกำหนดเวลาให้ต้องจัดเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จภายใน 150 วัน คือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.2562 ซึ่งจากการหารือกับกกต. แล้วเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสม คือวันที่ 24 ก.พ.2562 โดยในเดือน ธ.ค.2561 ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2561-19 ม.ค.2562 จะเป็นช่วงการจัดงาน”อุ่นไอรัก คลายความหนาว”
จากนั้นวันที่ 16-27 ธ.ค.2561 กกต.จัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ระดับอำเภอ ก่อนเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด ต่อด้วยการเลือกระดับประเทศ ที่คาดว่าจะมีขึ้นที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ให้ได้ 200 คน แล้วส่งต่อให้คสช.เลือกตัวจริง 50 คน และตัวสำรอง 50 คน
ระหว่างนี้ คสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. 9-12 คน เพื่อเตรียมการคัดเลือกส.ว.
จะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งกกต.เป็นผู้ยกร่างและเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป
เมื่อมีพ.ร.ฏ.ดังกล่าวออกมาแล้ววันใด ภายใน 5 วันหลังจากประกาศใช้พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ให้กกต.ออกประกาศยืนยันวันเลือกตั้ง ประกาศเขตเลือกตั้งและจำนวนส.ส.ในแต่ละเขต
ภายใน 25 วันหลังจากมีพ.ร.ฎ.นี้ ให้มีการประกาศวันรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. และพรรคการเมืองต้องแจ้งชื่อผู้ที่จะเข้ารับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีให้กกต.รับทราบ
จากนั้นจะไปสู่การปลดล็อกคำสั่งคสช.ฉบับที่ 57/2557 ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 และการห้ามหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เริ่มการทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆได้ หาเสียงเลือกตั้งได้
นอกจากนี้ วันที่ 28 ธ.ค.2561 เป็นวันสุดท้ายของการส่งร่างพ.ร.บ.ให้สนช.พิจารณา ส่วนเดือน ม.ค.2562 ในวันที่ 2 ม.ค. กกต.ส่งรายชื่อผู้เข้ารอบการคัดเลือกส.ว. จำนวน 200 คน ให้คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน และสำรอง 50 คน
เดือน ก.พ.2562 ในวันที่ 9 ก.พ.2562 คณะกรรมการสรรหาส.ว.ต้องส่งรายชื่อผู้เข้ารอบการคัดเลือกส.ว.ทั้งหมด 400 คน ให้คสช.คัดเหลือ 194 คน สำรอง 50 คน และมีส.ว.ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตำแหน่ง 6 คน
ในวันที่ 15 ก.พ. สนช.จะหยุดการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด ยกเว้นถ้ามีความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมายใด รัฐบาลจะใช้อำนาจออกกฎหมายนั้นเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ออกเป็นคำสั่งคสช.
ในวันที่ 24 ก.พ.2562 จะมีการเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ 500 คน
เดือน มี.ค.2562 เป็นช่วงที่กกต.พิจารณาข้อร้องเรียน การให้ใบเหลือง-ใบแดงในการเลือกตั้ง
เดือน เม.ย.2562 กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งส.ส. ภายในวันที่ 24 เม.ย.2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลา 60 วัน นับจากวันเลือกตั้ง
แต่ถ้ายังได้ส.ส.ไม่ครบจำนวน ให้ประกาศผลไปก่อนแล้วสามารถยกเลิกในภายหลังได้
วันที่ 27 เม.ย.เป็นวันสุดท้ายที่คสช.ต้องพิจารณารายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็นส.ว.รวม 250 คน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
เดือน พ.ค.2562 สนช.จะสิ้นสุดลง 1 วันก่อนเสด็จฯ เปิดการประชุมรัฐสภา ซึ่งกำหนดการเสด็จฯเปิดประชุมรัฐสภาจะสิ้นสุดภายในวันที่ 8 พ.ค.2562 และเมื่อเสด็จฯเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ต่อด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี
เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องจัดตั้งครม. ซึ่งรัฐบาลเก่าและคสช.จะสิ้นสุดลงเมื่อครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ คือภายในเดือน มิ.ย.2562
นับจากครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไปแล้ว 15 วัน ครม.ชุดใหม่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจะเริ่มการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 22-23 มิ.ย.2562 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียน
การคิดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง มาตรา 173 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดให้เริ่มนับเงินบาทแรกตั้งแต่วันที่มีพ.ร.ฎ.นี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง
หลังจากมีพ.ร.ฏ.ดังกล่าวออกแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ จะมีเวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 60 วัน ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
การหารือระหว่างคสช.จะหารือกับพรรคการเมืองนั้น ตนไม่ทราบว่าจะกำหนดวันใด แต่คาดว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ และเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีไม่มีภารกิจเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ
นักข่าวถามว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ถูกเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 ของพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ จะต้องใช้มาตรฐานใดในการวางตัว นายวิษณุ ตอบ
ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับรัฐมนตรีทั้งหมด เพราะการที่พรรคการเมืองเสนอชื่อนั้น ไม่ได้แปลว่ามีส่วนได้เสียทางการเมือง ไม่เหมือนกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะการเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ สามารถเสนอคนนอกพรรคก็ได้ แต่ถ้าเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ให้คุณหรือให้โทษต่อพรรคใด เป็นมาตรฐานปกติ ไม่ใช่มาตรฐานที่พิสดารแต่อย่างใด
Matemnews.com
8 พฤศจิกายน 2561