สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประชุมเมื่อเช้าวันที่ 16 พ.ย.2561 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งเลื่อนการลงมติมาจากการพิจารณาเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
ที่ประชุมสนช.ลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 เรียบร้อยแล้ว ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 169 ต่อ 0 และงดออกเสียง 2 เสียง ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. อาทิ การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น4 ประเภทคือ
1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 %
2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 % มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1%
สำหรับกรณีบ้านหลังหลัก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท
3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6% มูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7% และ4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก3ปีหากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 3
ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ให้เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2563 นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาลยังระบุด้วยว่า
ใน 3ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีแก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมด้วย
ที่ประชุมสนช.รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ในวาระ 1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 1 ชุด ระหว่างนั้นได้ขอขยายระยะเวลาการพิจารณาจำนวน 9 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 ก่อนที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสนช.อีกครั้งในวาระ 2 และวาระ 3 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา.
matemnews.com
16 พฤศจิกายน 2561