Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ทำไมนักศึกษาเวียดนาม สนใจมาศึกษาที่ประเทศไทยมากขึ้น

ทำไมนักศึกษาเวียดนาม สนใจมาศึกษาที่ประเทศไทยมากขึ้น

706
0
SHARE
ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 13 ของโลก และมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของทวีปเอเชีย (93.7ล้านคน) และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 2.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ประเทศเวียดนามมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ ประมาณ 6.3% ในปีล่าสุด และเพื่อให้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค รัฐบาลเวียดนามได้มุ่งเน้นการพัฒนาใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และทักษะแรงงานมากขึ้น รวมถึง เน้นการเพิ่มขีดสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ประเทศเวียดนามมียุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่กลายเป็นพันธกิจหลักของนโยบายด้านการศึกษาของประเทศเวียดนาม
การพัฒนาด้านการศึกษาเวียดนามมีความก้าวหน้ามาโดยตลอด ทั้งในด้านการศึกษาในประเทศ และ การส่งเสริมผู้ที่มีกำลังให้ออกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ผู้ปกครองชาวเวียดนามให้ความสนใจต่อการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากรายงานย้อนหลัง 5 ปีที่แล้ว ของ The World Education News and Reviews (WES) พบว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่นักเรียนออกไปศึกษาต่อต่างประเทศมากที่สุด โดยสถิติล่าสุด ปี พ.ศ. 2558-2559 มีนักเรียนศึกษาต่อต่างประเทศมากกว่า 53,000 ราย  โดยเป้าหมายที่ไปศึกษาต่อ มีประเทศไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกด้วย  (อันดับที่ 8 จาก 20 ประเทศยอดนิยม)  และ ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายอยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศเอเชีย รองจากญี่ปุ่น และเกาหลี ตามลำดับ  โดยสาขาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสาขายอดนิยมอันดับ 3 ที่นักเรียนเวียดนามเลือกศึกษาต่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายธานินทร์ ทิพย์เจริญ ผู้อำนวยการ สำนักรับนักศึกษานานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีโอกาสไปประชุมงาน รวมสถาบันแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ ณ เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า การไปศึกษาต่อต่างประเทศของเด็กเวียดนามนั้นจะถูกวางแผนล่วงหน้าประมาณ 2-3 ปี โดยสถานแนะแนวการศึกษา จะทำแผนการเรียนภาษาของประเทศที่เด็กมัธยมปลายประสงค์ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ผู้ปกครองเวียดนามยังสนใจถึง หลักสูตรที่ได้รับปริญญาควบ (Double degree) เช่นการที่มาเรียนหลักสูตรปริญญาตรีที่ประเทศไทย และสามารถไปแลกเปลี่ยนต่อ ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆ หลังจากนั้น สามารถได้รับปริญญา 2 ใบ หรือ หลักสูตรที่เป็นตรีควบโทที่เป็นแนวPath way โดยมาเรียนที่ประเทศไทย เพื่อเป็นการปูทางต่อไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร (UK) ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ นักศึกษาเวียดนามก็ยังมีความสนใจหลักสูตรระยะสั้น ที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ได้มีนักศึกษาและอาจารย์ จำนวน 80 คน จาก University of Economics and Law (Vietnam National University) เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และร่วมทำโครงการวิสาหกิจชุมชนคนอาเซียน โดยทางมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกแบบการเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่างๆ ให้นักศึกษาเวียดนามได้ทำร่วมกันกับนักศึกษาไทย
ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และอาจารย์ประจำสาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวต้อนรับคณะนักศึกษาที่มาเยือน รวมถึงการบรรยายให้ความรู้ ในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานตลาดทุน ตลาดหุ้นโลก และตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน” โดยรูปแบบการบรรยายเป็นจะเน้นเป็นแนวกิจกรรม โดยถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนความรู้ อาจารย์กุลบุตร กล่าวต่อไปว่า รูปแบบการบรรยายสมัยใหม่ ไม่ควรจะเป็น การฟังบรรยายแต่อย่างเดียว (Lecture based) เนื่องจากเด็กยุคนี้จะต้องการความรวดเร็ว ดังนั้น ต้องบรรยายเนื้อหาให้กระชับและไว หลังจากนั้นจึงให้เด็กคิดวิเคราะห์ ถาม-ตอบ โดยเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งจะสามารถดึงความสนใจการเรียนรู้ของเด็กได้ดียิ่งขึ้น
ดร.ปิยะรัตน์ จันทรยุคล อาจารย์ประจำ สาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะผู้จัดโครงการ ได้กล่าวว่า การร่วมคลาสระยะสั้น เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองสถาบันการศึกษาสนับสนุนให้นักศึกษาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แต่ในห้องเรียน และที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะในประเทศตนเองอีกด้วย ในวันนี้นักศึกษาเวียดนามมีความตื่นเต้น กระตือรือล้นในการเรียนรู้และสนุกสนานกับทุกกิจกรรมที่ทางเราเตรียมให้ทั้งวิชาการและสันทนาการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน