Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ยกเลิกแล้วคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา – รัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา30

ยกเลิกแล้วคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา – รัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา30

479
0
SHARE

 

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2561 ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ที่สังคมมีข้อกังวลต่างชาติจะฮุบ ว่า

 

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการแก้ปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหาช่องทางในการดำเนินการให้ถูกต้องตามที่พ.ร.บ.สิทธิบัตรกำหนด เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อน และมีกระบวนการดำเนินการพอสมควร จึงต้องทำให้รอบคอบ แต่ในที่สุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสารสกัดจากกัญชาเป็นสารสกัดจากพืช และมาตรา 9 ของกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้  จึงได้ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยใช้มาตรา 30 พิจารณายกเลิกคำขอดังกล่าว  ตอนนี้ มีคำขอที่ยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาเพียงคำขอเดียวจากทั้งหมด 11 คำขอ  ได้ขอให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปดำเนินการต่ออย่างรอบคอบ  ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ส่วนขั้นตอนการดำเนินการจะเป็นเรื่องของรายละเอียดตามกฎหมายที่จะดำเนินการต่อไป แต่ตอนนี้ พูดได้ว่าคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่เป็นที่สนใจของสังคมได้มีข้อยุติแล้ว โดยใช้มาตรา 30 จัดการ และขั้นตอนตามกฎหมายน่าจะใช้เวลาไม่นาน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ในจำนวนคำขอจดสิทธิบัตรทั้ง 11 คำขอ ผู้ยื่นคำขอได้มีการละทิ้งคำขอไป 2 คำขอ ซึ่งคำขอจะไม่อยู่ในระบบอีกต่อไป ส่วนคำขอที่เหลืออีก 8 คำขอ ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา แต่เป็นคำขอที่มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ ก็ดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรได้ต่อตามกฎหมาย  เพราะเป็นเรื่องของการประดิษฐ์คิดค้น ไม่ใช่การยื่นจดสารสกัดจากกัญชา   กรณีที่คนยังมีความกังวลว่าพ.ร.บ.สิทธิบัตร จะกระทบต่อการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด ที่ปรับให้กัญชาเป็นยาเสพติดที่นำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  กระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่า กฎหมายสิทธิบัตรเป็นเรื่องของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยและประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จึงไม่มีกระทบใดๆ ต่อนักวิจัยไทยยังสามารถนำสารสกัดจากกัญชามาพัฒนาต่อยอดได้ ทั้งการทำเป็นตำรับยา หรือองค์ประกอบของยาที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบ หรือทำเป็นสารสังเคราะห์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถขอยื่นจดสิทธิบัตรได้”

 

มาตรา 30 พ.ร.บ.สิทธิบัตร ระบุว่า เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 แล้ว ถ้าปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

 

มาตรา 9 ระบุว่า การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ (1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช (2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ (4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ (5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

 

matamnews.com 

19 พฤศจิกายน 2561