Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พรบ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับทำร้ายชาติ มุ่งอุ้มคนรวย

พรบ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับทำร้ายชาติ มุ่งอุ้มคนรวย

701
0
SHARE

 

https://goo.gl/4zTCXv

nong2010@truema…  19 พฤศจิกายน 2561 – 16:25

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

 

ตามที่สภาฯ ได้ผ่านร่าง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปรากฏว่า พรบ.นี้มุ่งอุ้มคนรวยโดยตรง ประเทศไทยมาถึงภาวะที่มีกฎหมายแต่เหมือนไม่มีกฎหมาย สู้ไม่มีกฎหมายในชื่อนี้ดีกว่าเสียอีก

 

  1. การไม่จัดเก็บที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มีราคาเกิน 50 ล้านบาทตามราคาประเมินราชการนั้น เป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดี ผมพาตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารส่วนราชการหลายแห่งในกระทรวงการคลังไปดูงานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่างก็ได้เห็นตัวอย่างว่าในสากลโลกไม่มีการยกเว้น และเขาจัดเก็บภาษี ณ อัตราประมาณ 1-3% ของราคาตลาด (ราคาประเมินราชการพอๆ กับราคาตลาด) การยกเว้นแบบนี้ทำให้กลายเป็นว่ามี พรบ.ภาษีที่ดินฯ และในเนื้อแท้แล้วไม่มีภาษีนี้ (มีแต่ชื่อที่เรียกส่งเดช)

 

  1. นับเป็นการ “แหกตา” ครั้งใหญ่ อันที่จริงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้สร้างภาระอะไรแก่ประชาชนเลย เพราะปกติคนจนที่มีรถจักรยานยนต์เก่าๆ สักคันหนึ่ง ก็ต้องเสียภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าประกัน ฯลฯ ราว 500 บาท หรือมากกว่า 1% อยู่แล้ว แต่ที่ต้องมีการลดสารพัด ก็เพียงเพื่อช่วยเหลือคนรวยๆ ให้เสียภาษีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ต่างหาก ไม่เหมือนกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐใช้ทุกองคาพยพในการอธิบายแก่ประชาชน แต่นี่กลับทำให้ประชาชนกลัวการเสียภาษีที่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์โดยตรง

 

  1. การบิดเบือนครั้งใหญ่ก็คือ ในขณะที่ที่ดินเปล่า ต้องเสียภาษี 0.3% จนชนเพดาน 3% แต่ถ้าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร กลับเสียภาษีเพียง 0.01% – 0.1% เช่นมหาเศรษฐีมีที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท (แต่ราคาตลาดอาจสูงถึง 3,000 ล้านบาท) ก็จะเสียภาษีเพียง 700,000 บาท แต่ถ้าเป็นที่ดินเปล่า ในระยะยาวต้องเสียถึง 30 ล้านบาท ดังนั้นหาากมหาเศรษฐี “เสแสร้งแกล้งบ้า” ทำการเกษตร ก็รอดจากภาษีนี้ ยิ่งถ้าเป็นที่ดินมูลค่าสูงในเมืองแล้วเสแสร้งทำการเกษตร ก็ยิ่งอาจได้รับการยกย่องว่าทำ Urban Farm เท่ๆ ไปอีกแบบ สมควรได้โล่ แต่นี่คือการโกงชาติ

 

  1. กรณีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) ยิ่งชี้ชัดว่าเป็นการอุ้มคนรวย ตาม พรบ.ใหม่นี้ เจ้าของโรงงานใหญ่โตจะเสียภาษีน้อยลง แทนที่รัฐจะเก็บมากขึ้นเพราะฐานภาษีเดิมก็ถูกมากอยู่แล้ว ทั้งนี้ทั้ง ผศ.ดร.ดวงกมล เลาวกุล และ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ต่างก็ตั้งข้อสังเกตนี้ (อบต.รายได้วูบ จี้รื้อ ‘ภาษีที่ดิน’ ฐานเศรษฐกิจ 18-21 พฤศจิกายน หน้า 1-2) นี่เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของ อปท. ให้จัดเก็บรายได้ได้น้อยลงไปอีก จากที่ปกติ อปท.ก็จัดเก็บรายได้เองแค่ 10% ของรายได้รวม และต้องขึ้นต่อส่วนกลางในการจัดสรรรายได้ให้อยู่แล้ว

 

  1. “ทรัพย์สินเอกชนที่ให้ราชการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์” อย่ากรณีที่ดินของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ยกให้เป็น “สวนชูวิทย์” ให้สาธารณชนใช้ในเวลากลางวันนั้น มีมูลค่าราว 5,040 ล้านบาท (https://goo.gl/2HPNJR) ถ้าต้องเสียภาษี 0.3% ก็จะเป็นเงิน 15.12 ล้านบาทต่อปี ถ้าต้องเสียจนถึงชนเพดาน 3% ก็เป็นเงิน 151.2 ล้านบาทต่อปี แต่การให้ราชการใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะ หรือเป็นสนามฟุตบอลประจำเขต เป็นที่จอดรถทางราชการในช่วงที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ก็ไม่ต้องเสียภาษี อย่างนี้ในแง่หนึ่งก็ควรจะมอบโล่ให้เจ้าของที่ดินที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่งนึ่คือการเลี่ยงภาษีอย่างแนบเนียนที่สุด

 

  1. การใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะทำให้รัฐได้ภาษีเพิ่มอีกเพียง 10,000 ล้านบาทจากกที่ “เก็บภาษีจาก พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ท้องถิ่นเก็บภาษีได้ปีละ 900 ล้านบาท และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เก็บภาษีได้ปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท” (https://bit.ly/2DLFgZh) เท่านั้น นับเป็นความไม่คุ้มค่าเป็นอย่างมากที่ออกภาษีนี้ออกมา แต่แทบไม่ได้อะไรเลย เป็นเพียง 0.33% ของงบประมาณแผ่นดินปีละ 3 ล้านล้านบาท แต่เราต้องเสียเวลาและงบประมาณมากมายไปออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายนี้

 

matemnews.com

19 พฤศจิกายน 2561