เพจเฟซบุ๊ก “ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat” หรือ ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ได้ออกมาให้ข้อมูล “วันลอยกระทง” ว่า กรมศิลปากรได้แก้ไขข้อมูลเรื่อง “นางนพมาศ” อย่างเป็นทางการแล้วว่า นางนพมาศไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้เป็นคนคิดเรื่องลอยกระทง ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องถูกแต่งขึ้น โดยคนแต่งสมมติว่าเกิดในสมัยสุโขทัย
ฉะนั้น เลิกเชื่อและเลิกพูดเลิกสอนได้แล้วว่า ลอยกระทงเกิดโดยนางนพมาศและเกิดสมัยสุโขทัย เกิดที่กรุงสุโขทัย ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่รู้ชัดว่าทำไมแต่งแบบนั้น มีวัตถุประสงค์อะไรแน่
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด จาก กรมศิลปากร ระบุว่า “ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น พระองค์จึงโปรดใหเฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และได้พระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง นางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง”
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ทรงพระวินิฉัยว่า หนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ น่าจะถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง
โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี 2457 ว่า “ว่าโดยทางโวหาร ใครๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”