จากการที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าได้ทวีความนรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 เขต เมื่อตอนบ่ายวันที่ 29 พ.ย.2561 หารือกันในประเด็นเพิ่มความเข้มงวดโครงการ “จับจริง ปรับจริง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า” หลังประชุมแล้ว นายสกลธี แถลงแก่ผู้สื่อข่าวว่า
“หลังจากเกิดเหตุจักรยานยนต์ชนนักเรียนบริเวณซอยลาดพร้าว 69 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 ก็ยังมีรายงานผู้ฝ่าฝืนวิ่งบนทางเท้าในบริเวณเกิดเหตุ รวมถึงจุดอื่นๆทั่วกรุงเทพฯมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทั้ง 50 เขตดำเนินการจับปรับอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม-วันที่ 31 ตุลาคม 2561 สามารถจับกุมได้ 9,572 คน ว่ากล่าวตักเตือน 3,250 คน ดำเนินคดี 6,142 คน และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 180 คน รวมเงินปรับเป็นเงิน 3,393,100 บาท ส่วนในเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่วันที่ 1-26 พ.ย.2561 พบผู้กระทำผิดแล้ว กว่า 1,2000 ราย จับปรับได้เงินกว่า 570,000 บาท แม้จะจับปรับได้จำนวนมาก แต่ก็ยอมรับว่า กำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกเขตไม่เพียงพอต่อการดูแลให้ทั่วถึงตลอดเวลา ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กวดขันอย่างเข้มงวด ปัญหานี้เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังให้หมดไป จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันเรื่องการปรับอย่างเข้มงวดและจริงจัง มติวันนี้ให้เพิ่มปรับสำหรับผู้กระทำความผิดจากเดิม 500 บาทเป็น 1,000 บาท ให้เริ่มเลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และให้กวดขันในช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่ 08.00-09.00 น. และเวลา 16.00-19.00 น. โดยเฉพาะหน้าสถานศึกษาที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก กทม.มีอำนาจปรับสูงสุด 5,000 บาท แต่ในเวลานี้ จะเพิ่มตัวเลขอยู่ที่ 1,000 บาท เมื่อทำได้สักกระยะจะมีการเรียกเทศกิจมาพูดคุยประเมินผล อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคน หากพบผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน หรือนักเรียน ย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนแล้วปล่อยตัว แต่ขอให้เชิญผู้ปกครองมารับทราบพฤติกรรมบุตรหลาน และปรับเงินจากผู้ปกครองแทน ในกรณีที่เป็นประชาชนกระทำผิดแล้วอ้างไม่มีเงินจ่าย ให้เจ้าหน้าที่ยึดอายัดรถไปเก็บไว้ที่สำนักงานเขตได้ทันที เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ในกฎหมายที่สามารถทำได้ และให้นำเงินมาจ่ายค่าปรับจนครบ ก็จะให้รถคืน ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดมักจะอ้างสาเหตุการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ด้วยกัน 2 ข้อ คือ การจราจรติดขัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำเวลาในการไปให้ถึงจุดหมาย จึงเลือกขึ้นทางเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจร และจุดกลับรถอยู่ไกลผู้ขับขี่จึงใช้การขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นบนทางเท้าเพื่อย้อนศร วันนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักเทศกิจ หารือกับตำรวจ เพื่อศึกษาแนวทางวิธีการนำภาพจากกล้องวงจรปิดที่มีการบันทึกภาพ และส่งใบเสียค่าปรับไปยังบ้านของผู้กระทำความผิดของตำรวจว่ามีข้อจำกัดอย่างไรหรือไม่ แม้กล้อง cctv ของ กทม.จะมีอยู่แล้วกว่า 50,000 ตัว แต่เป็นกล้องเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อการจับภาพกระทำความผิด ตอนนี้ได้มอบหมายให้สำนักเทศกิจทำโครงการติดตั้งกล้องเพิ่มเติม เพื่อเสนอสำนักจราจรและขนส่ง กรณีของวินมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่จอดรถบนทางเท้า ได้มอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตไปสำรวจว่า จุดทางเดินเท้าพื้นที่ไหนกว้างมากพอ ก็จะให้ทำการปาดทางในลักษณะเดียวกับจุดจอดแท๊กซี่ เพื่อให้วินมอเตอร์ไซต์ลงมาจอดด้านล่าง ทั้งนี้คงจะไม่ไล่ให้ลงมาจอดบนพื้นผิวถนนทั้งหมด เพราะเดิมเป็นนโยบายที่ให้ขึ้นไปจอดบนทางเท้าเพื่อลดปัญหาการจราจร แต่จะขอความร่วมมือวินในกรุงเทพฯที่มีกว่า 5,000 วิน ไม่วิ่งบนทางเท้าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน หากพบว่า ฝ่าฝืนคงไม่มีการละเว้น”
matemnews.com
29 พฤศจิกายน 2561