Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ทฤษฎีกบต้ม : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ทฤษฎีกบต้ม : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

2411
0
SHARE

https://www.matichon.co.th/news/622108

 

กําลังฮือฮากันมากในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือทฤษฎี “กบต้ม” ซึ่งเสนอโดยนักวิชาการอเมริกันชื่อ โนเอล ทิกี้ หรือ Noel Tichyโนเอล ทิกี้ พยายามอธิบายว่าเหตุใดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศค่อยๆ เกิดขึ้นโดยที่ประชาชนจะไม่รู้ตัว จึงไม่สามารถป้องกันตัวเองหรือกระโดดออกจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้ทัน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่ประชาชนไม่ทันรู้ตัว สถานการณ์ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นแล้วเหมือนกับกบที่อยู่ใน “น้ำเย็น” ที่ค่อยๆ อุ่นขึ้น แทนที่กบจะกระโดดหนีจากความหายนะเช่นว่า กลับไม่รู้สึกและปรับตัวทนต่อน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกบตาย กลายเป็น “กบต้ม”

 

ต่างกับสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นทันทีเหมือนกับน้ำเย็นที่ร้อนขึ้นทันที กบรู้ตัวก็สามารถกระโดดออกได้ทันการณ์โดยปลอดภัย

 

สถานการณ์เศรษฐกิจขาลงของหลายประเทศทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็มีลักษณะเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัฏจักรเป็นขาลง ผู้คนในระบบเศรษฐกิจมักจะไม่ค่อยรู้ตัวเหมือนกับกบที่อาศัยอยู่ในน้ำที่ค่อยๆ อุ่นขึ้น แทนที่กบจะกระโดดออกก็วางใจอยู่ต่อไปจนกลายเป็นกบต้ม ต่างกับกรณีที่น้ำร้อนอย่างรวดเร็วกบรู้ตัวก็กระโดดออกทันที

 

รัฐบาลหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หรือรัฐบาล……. ต่างก็รู้ดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาวการณ์เศรษฐกิจ ถ้าระบบเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นก็สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นผลงานของตน ในช่วงนั้นราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อยและน้ำตาล น้ำมันปาล์ม พืชผักต่างๆ ราคาดี อุตสาหกรรมรุ่งเรือง ราคาสินค้าส่งออกต่างสูงขึ้น ก็พลอยทำให้ราคาและรายได้ของผู้คนทุกระดับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศเล็กและเปิดอย่างประเทศไทย

 

ทุกคนก็เชื่อว่าเป็นเพราะฝีมือและความสามารถของรัฐบาล

 

ตรงกันข้ามกับช่วงเศรษฐกิจขาลง อัตราการขยายตัวของการส่งออกลดลง หรือการส่งออกขยายตัวในอัตราติดลบหรือหดตัว ราคาตลาดโลกลดลง เป็นเหตุให้ราคาสินค้าทุกอย่างในประเทศลดลง รายได้ของเกษตรกรลดลง การจ้างแรงงานไม่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานแม้ไม่ลดลงก็ไม่มีความกดดันให้ต้องขึ้นค่าแรงงาน ถ้าสถานการณ์เป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้สึก ไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจ ไม่คิดจะเลิกในสิ่งที่ตนขาดทุน ทั้งๆ ที่ไม่เห็นหนทางว่าธุรกิจของตนจะหยุดเลือดไหล หรือการขาดทุนได้อย่างไร มารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นธุรกิจที่เป็นเอ็นพีแอล อาการหนักไปแล้ว ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้

 

คำพังเพยไทยที่มีความหมายคล้ายๆ “กบต้ม” ก็มีอยู่เหมือนกันคือ “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” ซึ่งหมายความว่า การใช้น้ำเย็นเข้าลูบผู้คนมักจะ “ตายใจ” จะทำอะไรก็ง่ายกว่าการใช้วิธีรุนแรง เพราะจะไม่เกิดแรงต่อต้านเหมือนกับการใช้มาตรการที่เร่าร้อนรุนแรง

 

ดังนั้นถ้าจะไม่ให้เอกชนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่เป็น “กบต้ม” ที่มารู้ตัวเอาเมื่อสายเสียแล้ว รัฐบาลก็ควรจะต้องให้ความจริงกับประชาชน คอยตักเตือนประชาชนอยู่เสมอถึงภาวะเศรษฐกิจตามความเป็นจริง ไม่ปล่อยให้ประชาชนหลงระเริง ไม่รู้ว่าภัยอันตรายทางเศรษฐกิจกำลังคืบคลานใกล้เข้ามาแล้ว ไม่ควรกลัวจะเสียคะแนนนิยมกับการไม่ให้ความจริงกับประชาชนและเอกชนจนสายเกินแก้

 

ดูท่าจะเหมือนกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ภาวะการส่งออกชะงักงัน ราคาสินค้าเกษตรทุกตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำ เป็นเหตุให้รายได้ของครัวเรือนลดลง การลงทุนในประเทศไม่มีทั้งๆ ที่มีเงินล้นตลาด นักลงทุนไทยจึงต้องดิ้นรนไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นการเรียกร้องให้นักลงทุนในต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยจึงเป็นไปได้ยาก เพราะแม้แต่นักลงทุนของไทยก็ยังไม่ลงทุนในประเทศตัวเอง ต้องหาช่องทางไปลงทุนในต่างประเทศ

 

ไม่อาจจะหาตลาดในต่างประเทศเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ บวกกับการต่อต้านสินค้าจากประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีเหลือไม่กี่ประเทศแล้วในโลก

 

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศเราขณะนี้กำลังทยอยกันล้มละลาย ปิดกิจการ อาจจะเกิดจากความชะล่าใจ แม้ว่าข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่รายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี กระทรวงการคลังก็ดี สำนักงบประมาณก็ดี ล้วนชี้ไปในทางที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนตัวลง แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางต่างก็ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพราะน้ำค่อยๆ ร้อนขึ้นทีละน้อยจนเกิดวิกฤตการณ์ในที่สุด เพราะรัฐบาลออกมาบอกทุกวันว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ กำลังจะฟื้นตัว ต่างกับวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมลดค่าเงินบาท แต่กลับนำเงินทุนสำรองซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศไปสู้กับการโจมตีค่าเงินบาทของกองทุนเก็งกำไรของต่างประเทศ

 

จนทุนสำรองหมด ต้องลดค่าเงินบาทอย่างฮวบฮาบในที่สุด

 

สถานการณ์ในขณะนี้ของประเทศไทย ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ “กบต้ม” หรือไม่ เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจของเรากำลังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ ปกปิดความจริง พยายามพูดว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีสัญญาณอะไรเลยที่จะบ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ธุรกิจสื่อสารมวลชน โทรทัศน์ดิจิทัล สื่อออนไลน์ และอื่นๆ กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ธุรกิจการส่งออกและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกำลังจะประสบกับปัญหาความอยู่รอด แต่ก็ไม่รู้ตัว ยังชะล่าใจ ทุกวันศุกร์ก็ได้รับฟังแต่ข่าวดี ข่าวปลอบใจ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ความเป็นจริงเป็นไปในทางตรงกันข้าม

 

ที่ร้ายไปยิ่งกว่านั้นก็คือ การแสดงอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ หากใครจะวิพากษ์วิจารณ์ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิต ด้วยวาทะ “ขอให้รออีกไม่นาน” ทั้งๆ ที่รอมากว่า 3 ปี กำลังเข้าปีที่ 4 แล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งป่านนี้คงถูกฝ่ายค้านถล่มโจมตีอย่างหนัก จนต้องยุบสภาเพื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่แล้ว เพราะขณะนี้ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ต่างก็ทยอยล้ม ทยอยปิดกันไปอย่างเงียบๆ ตามทฤษฎีกบต้มไปแล้ว

 

ภัยเศรษฐกิจแบบ “กบต้ม” คือภัยที่มาแบบเงียบๆ เป็นภัยที่อันตรายมาก เพราะค่อยๆ มาอย่างไม่รู้ตัว คณะรัฐมนตรีก็ไม่รู้ตัว เพราะดุลการค้าและดุลการชำระเงินก็ยังเกินดุล อัตราเงินเฟ้อก็ยังต่ำ การว่างงานก็อยู่ในระดับต่ำ แต่ธุรกิจเกือบทั้งหมดขาดทุน ไม่เหลือแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน ขายออกก็ไม่ได้ตามเป้า อีกปีสองปีข้างหน้าภาวะล้นตลาดของอาคารสำนักงานและห้องชุดก็น่าจะกลับมาเป็นปัญหาอีก ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกของนักลงทุนทั้งหลายในขณะนี้

 

ความจริงแล้ว ไม่ควรไปห้ามหรือแสดงอาการหงุดหงิด เมื่อใครจะวิพากษ์วิจารณ์ภาวะเศรษฐกิจตามความเป็นจริง โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ไม่สามารถบิดเบือนได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ หรือธนาคารชาติ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะถูกตรวจสอบโดยธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพราะประเทศไทยเราเป็นสมาชิกอยู่

 

การแสดงความคิดเห็นโดยการอ้างอิงข้อมูลของราชการเช่นว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับคณะรัฐมนตรี ไม่หลงไปกับการรายงานของข้าราชการที่อาจจะตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง ข้าราชการมักมีวิธีรายงานที่เอาอกเอาใจผู้บังคับบัญชา ไม่ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่สบายใจ เลือกรายงานเฉพาะส่วนดี ไม่พูดถึงส่วนไม่ดี คำว่า ดีขึ้น ทรงตัว หรือลดลง บางทีก็ขึ้นอยู่กับการเลือกเปรียบเทียบกับวันเวลาในอดีตที่จะเลือก เช่น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว หรือ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ข้าราชการจะเลือกการเปรียบเทียบ “ที่ดีที่สุด” หรือไม่ก็ “เลวน้อยที่สุด” แล้วแต่กรณี

 

ภาคเอกชนและครัวเรือนถ้าไม่อยากเป็น“กบต้ม” ก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอว่าสถานการณ์ปัจจุบันไปถึงไหนแล้ว จะได้ปรับกลยุทธ์เป้าหมาย ปรับวิธีการและมาตรการต่างๆ ให้ทันกับสถานการณ์ เหมือนกับ “กบในน้ำร้อน” ที่จะกระโดดออกทัน ไม่นอนตายอยู่ในน้ำที่ค่อยๆ ร้อนขึ้น

 

เมื่อมีคนมาช่วยพูดเพราะรัฐบาลไม่อยากพูดเองก็ดีแล้ว ถ้าไม่จริงธุรกิจเอกชนเขาก็จะได้เล่นงานคนพูดอย่างไม่รับผิดชอบเอง ทุกวันนี้ผู้คนไม่ได้กินแกลบกินหญ้า ที่จะไม่รู้ว่า ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ เพียงแต่เขาเกรงใจไม่อยากพูดขัดกับรัฐบาล

 

ปากนั้นสู้ปืนไม่ได้หรอก

 

วีรพงษ์ รามางกูร

วันที่ 10 สิงหาคม 2560 – 13:15 น.

 

คลิกอ่านในเว็บไซต์มติชน

https://goo.gl/k69zV5

 

 

คลืป ดร.โกร่ง ฉบับเต็ม 50.25 นาที

https://goo.gl/sMQGeQ

 

 

 

 

matemnews.com  10 สิหาคม 2560