“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประกาศในเว็บไซต์ เมื่อเช้าวันที่ 23 ธ.ค.2561 ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,149 คน ระหว่างวันที่ 18-22 ธ.ค.61 หัวข้อ
“เรื่องที่ประชาชนอยากรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562”
เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ปลดล็อคพรรคการเมือง ก็ทำให้พรรคการเมืองเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างเป็นที่จับตามองของประชาชนเป็นอย่างมาก และมีหลายประเด็นที่ประชาชนอยากรู้และให้ความสนใจ สรุปผลได้ ดังนี้
10 เรื่อง ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยากรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562
อันดับ 1 นโยบายของแต่ละพรรค และแนวทางปฏิบัติที่ทำได้จริง 52.74%
อันดับ 2 ความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง การป้องกันการทุจริต ซื้อเสียง 33.68%
อันดับ 3 การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้สถานการณ์บ้านเมือง และเศรษฐกิจดีขึ้นได้จริงหรือไม่ 32.55%
อันดับ 4 การแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง ส.ส. มี ส.ส.จำนวนเท่าใดในเขตของตนเอง 31.59%
อันดับ 5 ผู้สมัครมีใครบ้าง ชื่ออะไร หมายเลขอะไร สังกัดพรรคใด ประวัติเป็นอย่างไร 26.89%
อันดับ 6 จะมีเลือกตั้งจริงหรือไม่ จะเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ 22.72%
อันดับ 7 กฎหมายเลือกตั้ง กฎระเบียบข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติตาม 21.50%
อันดับ 8 ขั้นตอนการเลือกตั้ง วิธีการลงคะแนน บัตรเลือกตั้งมีกี่ใบ มีรายละเอียดอะไรบ้าง 18.71%
อันดับ 9 กระบวนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ที่มาของนายกรัฐมนตรี นายกฯคนนอก 17.67%
อันดับ 10 พรรคเก่า พรรคใหม่ การย้ายพรรคของ ส.ส. 15.84%
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ประกาศในเว็บไซต์เช้าวันเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
เรื่อง “40+ กับการเลือกตั้ง 2562”
ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค.61 จากประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป กับการเลือกตั้ง 2562 ที่จะถึงนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงนโยบายที่คน 40+ อยากเห็นจากพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.56 ระบุว่า นโยบายแก้ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 37.60 ระบุว่า นโยบายการควบคุมราคาสินค้า ลดการผูกขาด , ร้อยละ 30.16 ระบุว่า นโยบายป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล
ร้อยละ 27.44 ระบุว่า นโยบายแก้ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ , ร้อยละ 19.60 ระบุว่า นโยบายพัฒนาด้านการศึกษา และยกระดับมาตรฐานการศึกษา , ร้อยละ 15.20 ระบุว่า นโยบายการกระจายอำนาจ กระจายงานและรายได้ ไม่ให้กระจุกตามเมืองใหญ่ , ร้อยละ 14.96 ระบุว่า นโยบายด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค
ร้อยละ 11.12 ระบุว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ระหว่างคนจนกับคนรวย , ร้อยละ 2.88 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาประเทศ FinTech , Big DATA , Blockchain , ร้อยละ 1.28 ระบุว่า นโยบายการลดงบประมาณของทหาร ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และร้อยละ 0.08 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการจัดการด้านคมนาคม
สำหรับเรื่องที่คน 40+ คิดว่าไม่ถูกต้องหรือรับไม่ได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.76 ระบุว่า เป็นเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ รองลงมา ร้อยละ 16.24 ระบุว่า เป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ผู้มีอิทธิพล , ร้อยละ 11.52 ระบุว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของคนในประเทศ , ร้อยละ 10.88 ระบุว่า เป็นเรื่องปัญหาสังคม (ความยากจน การกระจายรายได้ อาชญากรรม ยาเสพติด)
ร้อยละ 4.56 ระบุว่า เป็นเรื่องระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ , ร้อยละ 4.08 ระบุว่า เป็นเรื่องการปฏิวัติ/การทำรัฐประหาร , ร้อยละ 3.76 ระบุว่า เป็นเรื่องการไม่มีการเลือกตั้ง , ร้อยละ 1.12 ระบุว่า เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
ด้านสิ่งที่คน 40+ คาดหวังมากที่สุด หลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.64 ระบุว่า เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 10.16 ระบุว่า ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย , ร้อยละ 8.80 ระบุว่า ส่งเสริมการเพิ่มอาชีพ ลดการว่างงาน พัฒนาให้แรงงานให้มีประสิทธิภาพ , ร้อยละ 6.00 ระบุว่า พัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น , ร้อยละ 5.68 ระบุว่า ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาของต่างชาติ
ร้อยละ 3.28 ระบุว่า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในประเทศและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน , ร้อยละ 2.48 ระบุว่า การบริการและการได้รับสวัสดิการของรัฐด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน , ร้อยละ 0.16 ระบุว่า สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น อินเทอร์เน็ต น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน รถไฟ การคมนาคม ฯลฯ , ร้อยละ 0.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่คาดหวังสิ่งใด , ร้อยละ 0.16 ไม่แน่ใจและร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยที่คน 40+ อยากเห็นในอนาคต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.20 ระบุว่า แก้ปัญหาการขัดแย้ง สร้างความสามัคคี สร้างจิตสำนึกในการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล รองลงมา ร้อยละ 31.20 ระบุว่า การทำนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชนร่วมกันคิด , ร้อยละ 24.00 ระบุว่า ยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพ , ร้อยละ 17.36 ระบุว่า ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้
ร้อยละ 12.00 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ , ร้อยละ 11.28 ระบุว่าแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัด 3 ชายแดนภาคใต้ , ร้อยละ 3.36 ระบุว่า ส่งเสริมด้านกีฬาให้กับประชาชน เช่น อุปกรณ์กีฬา สนามกีฬา เป็นต้น , ร้อยละ 3.12 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน , ร้อยละ 0.32 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ
matemnews.com
23 ธันวาคม 2561