Home ข่าวทั่วไปรอบวัน เมาขับรถเจอกำไล EM ออกบ้านยามวิกาลไม่ได้ ซิ่งอีกไม่ได้ โดนหนัก

เมาขับรถเจอกำไล EM ออกบ้านยามวิกาลไม่ได้ ซิ่งอีกไม่ได้ โดนหนัก

651
0
SHARE

รูปของ .dailynews.co.th

นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ  แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนที่ ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรมคุมประพฤติ  เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2561 ว่า  ได้มีการประเดิมติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM กับผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา ตามคำพิพากษาของศาล  โดย วันนี้มีผู้ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ 7 ราย ในคดีเมาแล้วขับมาติดกำไล EM ที่ศูนย์ควบคุมฯ โดยส่วนใหญ่ถูกตรวจเป่าบนถนนวิภาวดีรังสิต และถนนรามคำแหง พบมีปริมาณแอลกอฮอล์ 190-200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ขับรถต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และผู้ที่ถูกติดกำไล EM จะเป็นกลุ่มที่เมามากมีระดับแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป   นอกจากจะถูกติดกำไลและห้ามออกนอกบ้านยามวิกาลแล้วยังต้องเสียค่าปรับ 15,000 บาท หากผู้ใดที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับจะถูกกักขังแทนค่าปรับ   คิดอัตรากักขังวันละ 500 บาท และบางรายถูกพักใช้ใบอนุญาต 6 เดือน ในจำนวนดังกล่าวพบว่าผู้ถูกคุมประพฤติถูกพักเพียงใบขับขี่จักรยานยนต์ แต่ยังสามารถขับขี่รถยนต์ได้  ผู้ที่ฝ่าฝืนออกจากบ้านยามวิกาล กำไล EM จะแจ้งเตือนให้กับเข้าที่พักและห้ามออกนอกบริเวณที่จำกัดตามที่ศาลสั่ง หากยังฝ่าฝืนระบบจะส่งข้อมูลมาที่ศูนย์ควบคุมเพื่อจัดส่งเจ้าพนักงานคุมประพฤติไปตรวจสอบ ถ้าเหตุผลรับฟังได้ เช่น คนในบ้านเจ็บป่วยจำเป็นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล กรมคุมประพฤติจะรายงานศาลให้รับทราบ แต่หากเป็นการจงใจฝ่าฝืนศาลอาจเพิ่มเติมเงื่อนไขการคุมประพฤติ หรือสั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เช่นเดียวกับกรณีหลบหนีจะถูกศาลออกหมายจับ  และยังต้องรับผิดชอบในทางแพ่งที่ตัดทำลายอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้กลุ่มผู้ติดกำไล EM เมาแล้วขับยังต้องทำงานบริการสังคม   โดยจะจัดให้ทำงานในแผนกอุบัติเหตุของโรงพยาบาลหรือดูแลผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน เพื่อกระตุ้นให้มีจิตสำนึกต่อผลเสียหายที่จะกระทบต่อบุคคลอื่น  เพราะคนที่ป่วยติดเตียงอาจเป็นตัวผู้กระทำผิดเอง  หรือญาติพี่น้องก็ได้ ทั้งนี้ ในปีนี้จะมีมาตรการใหม่ออกมาใช้บังคับกับผู้ที่กระทำผิดซ้ำ โดยกรมคุมประพฤติจะเข้าไปตรวจสอบประวัติการทำความผิดผู้ที่ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป  จะต้องทำแบบคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินอาการติดสุราและเข้ารับการบำบัดการติดสุราที่โรงพยาบาลสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด ซึ่งกรมคุมประพฤติจะประเมินผล 1 เดือน ก่อนพิจารณาขยายการคุมประพฤติหรือไม่

การทำงานของระบบกำไล EM ผู้ที่ติดกำไลจะต้องให้ข้อมูลที่พัก เพื่อจำกัดบริเวณระหว่าง 22.00-04.00 น. โดยผู้ถูกคุมประพฤติสามารถไปทำงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ปกติ แต่จะต้องกลับเข้าที่พักให้ทันเวลา ซึ่งกำไลจะเริ่มแจ้งเตือนเป็นข้อความมายังผู้ถูกคุมประพฤติให้เตรียมตัวเดินทางกลับที่พักตั้งแต่เวลา 20.00 น. และจะแจ้งเตือนถี่ขึ้นหากใกล้เวลาแล้วยังไม่ถึงที่พัก รวมถึงจะแจ้งเตือนกรณีให้ชาร์จแบตเตอรี่ที่จะต้องชาร์จทุกวัน โดยระบบออกแบบมาให้ใช้งานง่ายมีเพาเวอร์แบงค์ให้พกติดตัวเพื่อสำรองไฟตลอด 24 ชั่วโมง

มาตรการใช้กำไล EM กรมคุมประพฤติได้จัดเช่ากำไล EM ในระยะเวลา 21 เดือน จำนวน 4 พันเครื่อง มูลค่า 74 ล้านบาท  การใช้กำไลเป็นมาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุก โดยเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้ 4 ด้าน เช่น

ห้ามออกนอกบ้านยามวิกาลภายในเวลาที่ศาลกำหนด,

กรณีขับรถซิ่งจะถูกจำกัดความเร็ว,

ห้ามออกนอกเส้นทางที่กำหนด

ห้ามเข้าพื้นที่อบายมุข

กระทรวงยุติธรรมยังมีนโยบายนำกำไล EM มาใช้กับผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษหรือปล่อยก่อนกำหนด เพื่อลดความกังวลของสังคมจากการปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำ ซึ่งจะติดกำไล EM เพื่อควบคุมผู้ต้องขังตลอดระยะเวลาที่พักการลงโทษ

สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ ยอดสะสมรวม 5 วัน (ระหว่างวันที่ 27-31 ธ.ค.61) มีจำนวน 6,253 คดี เฉพาะวันที่ 5 ที่มีการควบคุมเข้มงวดมีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ จำนวน 2,660 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 2,649 คดี คิดเป็นร้อยละ 99.5  (ยอดสะสม 5 วัน จำนวน 5,766 คดี), คดีขับเสพ จำนวน 9 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.33 (ยอดสะสม 5 วัน จำนวน 446 คดี), คดีขับรถประมาท จำนวน 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.07 (ยอดสะสม 5 วัน จำนวน 39 คดี) และคดีขับซิ่ง ไม่มีคดี  (ยอดสะสม 5 วัน จำนวน 2 คดี) โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุรา สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 187 คดี จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 186 คดี และจังหวัดสกลนคร จำนวน 175 คดี 

ศาลมีคำสั่งให้ติดกำไล EM ในคดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 33 ราย (ยอดสะสม 5 วัน จำนวน 66 ราย) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (สคป.กทม.2) จำนวน 9 ราย จังหวัดขอนแก่น (สคป.จ.ขอนแก่น สาขาพล) จำนวน 10 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ (สคป.จ.บุรีรัมย์ สาขานางรอง) จำนวน 9 ราย และจังหวัดราชบุรี จำนวน 5 ราย  สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศจะเริ่มดำเนินการใช้อุปกรณ์ติด EM ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยรายงานพนักงานคุมประพฤติและเข้ารับการอบรมให้เข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎจราจร 4 ครั้งมีกำหนด 1 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน  และห้ามมิให้จำเลยออกจากที่อยู่อาศัยของตน ตั้งแต่เวลา 22.00 น.- 04.00 น. มีกำหนด 15 วัน 

matemnews.com 

1 มกราคม 2562