นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 7 ม.ค.2562 ว่าด้วย ข้อถกเถียงการจัดเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ รวมอีก 60 วัน ในการรับรองผลการเลือกตั้ง ว่า
ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริงอย่างที่มีข้อสงสัย เพราะเกี่ยวข้องกับ 2 มาตราในรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยมาตรา 85 และ 268 โดยมาตรา 85 อยู่ในบทถาวร บัญญัติว่า ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 268 เขียนว่าในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน เมื่อมีข้อสงสัยจึงอยู่ที่การบริหารจัดการของ กกต.โดยการพูดคุยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการหารือในเรื่องนี้ด้วย แต่ส่วนตัวไม่ได้ติดใจในเรื่องนี้ ใครจะถูกหรือผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง รัฐบาลไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ หากกกต. มีความสงสัยก็อาจหารือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคิดว่ามีความชัดเจนแล้ว ทุกอย่างก็จบ กกต.บอกว่ามีวิธีบริหารจัดการได้ เช่น รู้แล้วว่าวันสุดท้ายของ 150 วันในการจัดการเลือกตั้ง คือวันที่ 9 พฤษภาคม ดังนั้น ถ้าจะตัดปัญหา ก็จัดการเลือกตั้งและนับคะแนนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคมด้วย แค่นั้นก็จบเรื่อง เพียงแต่ถ้าวันเลือกตั้งถูกขยับออกไปไกล การจะรับรองผลให้ทันวันที่ 9 พฤษภาคมนั้น อาจจะสั้นไปหน่อย แต่ กกต.อาจบริหารจัดการได้ก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด ผมถึงบอกว่าไม่มีปัญหาเลยในการปฏิบัติ ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า การเลือกตั้งและรับรองผลเลือกตั้งจะต้องทำภายใน 150 วันหรือไม่ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเพียงแค่เลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ทุกอย่างก็จบ
นักข่าวถามว่า ถ้ากกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความจะทำให้การเลือกตั้งต้องช้าออกไปอีกหรือไม่ นายวิษณุ ตอบ
ไม่ช้า เพราะตอนนี้ยังมีเวลาอยู่ เรื่องนี้ส่วนตัวจะไม่ถกเถียงให้ประชาชนเกิดความสับสน แต่จะเอาไว้พูดกับกกต. กกต. ยืนยันว่ามีวิธีบริหารจัดการ ในส่วนของรัฐบาลเห็นว่า 150 วัน เป็นเพียงกรอบเวลาจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่รวมการรับรองผลการเลือกตั้ง ที่แล้วมา กกต.ไม่มีความกังวลใดๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่ก็จะไม่กระทบต่ออะไรทั้งนั้น ซึ่งไม่มีเหตุผลว่าจะไปยื่นทำไมด้วย
ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม ก็แล้วแต่ กกต. เพราะส่วนตัวไม่ได้ติดใจ และอย่างที่บอก ว่า หากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 17,24,31 มีนาคม ไม่มีปัญหา แต่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่า เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว จะต้องกราบบังคมทูลเสด็จ เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 15 วัน และจะต้องคิดเผื่อด้วยว่า ถ้าในหลวง มีพระราชกรณียกิจระหว่างนั้น จะเสด็จเปิดประชุมรัฐสภาได้อย่างไร ดังนั้นการจะประกาศผลการเลือกตั้ง จึงต้องดูว่าในหลวงมีพระราชกรณียกิจใดหรือไม่
นักข่าวถามว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความจัดเป็นแนวทางการป้องกัน เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ นายวิษณุ ตอบ
ถ้าจะเพลย์เซฟให้ปลอดภัย ก็ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ส่วนพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ และไม่ทราบว่าลงมาหรือยัง อย่างไรก็ตาม ที่แล้วมา ในส่วนของพระราชบัญญัติ เคยมีบางฉบับที่เกิดกรณี ต้องถูกเก็บไว้ก่อน ยังไม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในทันที เป็นสิทธิ์ที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและธรรมเนียมประเพณี
นักข่าวถามต่อ เมื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนายกรัฐมนตรีจะต้องแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อให้ประชาชนและนานาชาติได้รับทราบหรือไม่ นายวิษณุ ตอบ
ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น แต่หากมีความจำเป็นก็อาจมีการแถลง แต่คงไม่ถึงขั้นไปยืนออกโทรทัศน์ ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าคิด เพราะเรามีเหตุผลดีๆ ที่จะอธิบายให้โลกได้เข้าใจ ไม่ได้เลื่อนเลือกตั้งอย่างส่งเดช และก็ไม่ได้ทำให้ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน และเชื่อว่าต่างประเทศเองก็อยากจะทราบ ว่าในพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องรอการประชุมเตรียมการ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคมนี้ก่อน
นักข่าวถาม กกต.ได้ส่งสัญญาณมาบ้างหรือไม่ว่า จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันใด นายวิษณุ ตอบ
ไม่มี
นักข่าวถามย้ำ กกต.ควรต้องให้คำตอบเรื่องวันเลือกตั้งได้ก่อนวันประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีฯ ในวันที่ 10 มกราคมนี้ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบ
ไม่ต้อง เพราะกกต.รอฟังกำหนดการจัดงานจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ
matemnews.com
7 มกราคม 2562