กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดกิจกรรม แสดงพลังจุดยืน “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลาการเลือกตั้ง” ที่สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันที่ 13 ม.ค.2562 ขณะเดียวกันหน้าศาลากลางอีกดหลายจังหวัดก็มีการชุมนุมลักษณะเดียวกัน มีแกนนำสำคัญๆหลายคนผปลัดกันพูด กระทั่งเวลา 17.00 น. ตำรวจสน.ลุมพินี เจ้าของท้องที่เข้าไปขอให้หยุดใช้เครื่องขยายเสียง ฝ่ายผู้ชุมนุมแย้งว่าขออนุญาตแล้ว ตำรวจยอม เวลาประมาณ 17.30 น. โบว์- ณัฏฐา ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์วางหรีดหรีดเขียนชื่อ สนช. , กกต. , คสช. , ครม. , สปช. และ กรธ. หรือแม่น้ำทั้ง 6 สาย เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้การเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 ที่ถูกเลื่อนออกไป
นายสิรวิชญ์ อ่านแถลงการณ์ ที่ได้ขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาล คสช. 3 ข้อ ดังนี้
1.ไม่เลื่อนวันเลือกตั้งให้ล่วงเลยกว่าวันที่ 10 มี.ค.
2.ไม่ล้มการเลือกตั้งด้วยการใช้เล่ห์กล ข้ออ้าง หรือเทคนิคทางกฎหมายใดๆ
3.ไม่ต่อเวลาให้กับการอยู่ในอำนาจของตน ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความได้เปรียบ
หากภายในวันที่ 18 ม.ค.2562ไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง มวลชนจะยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 17.00 น. วันที่ 19 ม.ค.62
แถลงการณ์กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
นับตั้งแต่วันที่เรามารวมตัวกันที่นี่เมื่อ 8 มกราคม 2562 จนถึงวันนี้ ข้อเรียกร้องเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จนถึงวันนี้ เวลาได้ล่วงเลยจนการเลือกตั้งตามกำหนด 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่รัฐบาลได้เคยให้คำมั่นไว้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกแล้วตามกฎหมาย อันถือว่าการเลื่อนเลือกตั้งและการตระบัดสัตย์ครั้งที่ 5 โดยหัวหน้า คสช. โดยมีประชาคมโลกเป็นสักขีพยาน ได้เกิดขึ้นแล้วโดยสมบูรณ์
วันนี้เราใกล้หมดความอดทนกับความปลิ้นปล้อนตลบแตลง และความพยายามในการใช้สารพัดข้ออ้างรวมถึงการใส่ร้ายป้ายสี เพื่อปิดปากสื่อและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง เราขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาล คสช.
1. “ไม่เลื่อน” วันเลือกตั้งให้ล่วงเลยหลัง 10 มีนาคม 2562 เพราะจะสุ่มเสี่ยงให้ กกต. ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งภายในกรอบ 150 วันนับจากวันประกาศ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 อันอาจส่งผลทำให้การเลือกตั้งนั้นถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นโมฆะ
2. “ไม่ล้ม” การเลือกตั้งด้วยเล่ห์กลหรือข้ออ้าง รวมถึงเทคนิคทางกฎหมายใดๆ ทั้งที่มีความพยายามทำอยู่ในวันนี้ และที่จะมีขึ้นในอนาคต
3. “ไม่ต่อเวลา” ให้กับการดำรงอยู่ในอำนาจของตนเอง ผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ ไม่ว่าจะในรูปของการใช้เสียงของ ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งมาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ใช้ความเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการใช้งบประมาณและโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้การตรวจสอบระหว่างช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งล้วนแล้วแต่ถือเป็นการโกงการเลือกตั้งทั้งสิ้น
ภายในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 หากยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเปิดทางให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งได้ เราจะถือว่ารัฐบาลคสช. ได้แสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดถึงความไม่จริงใจในการคืนอำนาจให้ประชาชน และเราจะยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เวลา 17.00 น. พบกันที่ถนนราชดำเนิน
บ่ายวันเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงแก่ผู้สื่อข่าส
“จากการที่สมาชิกพรรคการเมืองบางท่าน ได้ออกมากล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาชนเข้าใจในสาระสำคัญที่ ผบ.ทบ.สะท้อนให้เห็นภาพด้วยความห่วงใย ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อย ที่กองทัพบกประสงค์ให้ในช่วงเวลาสำคัญนี้ วาระสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เป็นมหามงคลยิ่งของพสกนิกร ที่ในตลอดห้วงชีวิตนี้จะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเพียงครั้งหนึ่ง ควรจะเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีบรรยากาศที่มีความสุขสงบเรียบร้อย ในขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่รับข่าวสารเรื่องการเลือกตั้งด้วยวิจารณญาณ มีความเข้าใจในเหตุและผล และเฝ้าดูการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างบรรยากาศแจ่มใสให้ประเทศไทย เพื่อเตรียมสำหรับพระราชพิธีที่เป็นมหามงคลยิ่ง และสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กองทัพบกเชื่อในความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย ที่กำลังหารือเพื่อให้ได้การปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด สง่างามที่สุด ประชาชนเห็นด้วยที่สุด และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในความเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หากสังคมไทยจะมองการตั้งใจเคลื่อนไหวอย่างมีนัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยความรู้สึก กังขา และมองว่าไม่เหมาะ ไม่ควรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอารมณ์ประชาธิปไตย ที่ใครๆ ก็มีสิทธิจะเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นได้ และถ้ามองอย่างพิจารณา อาจตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่าความเคลื่อนไหวบางอย่าง ได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งไปเสียแล้ว และยังเป็นวิธีการเดิมๆที่บางกลุ่มบางส่วนนำมาใช้ โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้สนใจบริบททางสังคมโดยรวม การเคลื่อนไหวแบบมีนัยยะและการวิจารณ์ด้วยอารมณ์ ที่เต็มไปด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าจะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่งดงาม และยังไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมไทยเลยแม้แต่น้อย ส่วนการให้ความเห็นของสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น คงไม่ต่างจากความเห็นเก่าที่ได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่อดีต แต่ระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวาทะที่สังคมคงจะต้องไตร่ตรองให้ชัดเจน โดยเฉพาะการชูประเด็นว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยที่กำลังบกพร่องก็เป็นได้”
matemnews.com
13 มกราคม 2562