Home ข่าวทั่วไปรอบวัน “หลายคนบอกว่าผมจะเบี้ยวไม่ให้เลือกตั้ง” – พลเอกประยุทธ์เล่าสู่ชาวลำปางฟัง แล้วจะเบี้ยวมั๊ย

“หลายคนบอกว่าผมจะเบี้ยวไม่ให้เลือกตั้ง” – พลเอกประยุทธ์เล่าสู่ชาวลำปางฟัง แล้วจะเบี้ยวมั๊ย

440
0
SHARE

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มาที่ตลาดชุมชนบ้านหลุก อ.แม่ทะ จ.ลำปาง  เมื่อตอนบ่ายวันที่ 14 ม.ค.2562  เป็นสักขีพยานการมอบหนังสืออนุญาตให้ประชาชนท้องถิ่นเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัด  ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน และเป็นสักขีพยานมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ผู้แทนชุมชน และเป็นสักขีพยานมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมให้แก่ผู้แทนชุมชน   แล้วปราศรัยแก่ประชาชน ความว่า

“ฎการเลือกตั้งก็คือการเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งแล้วหลังจากนั้นก็มีวิธีการเช่นเรื่องการตั้งรัฐบาล ก็มีระยะเวลาที่ต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้นถึงอย่างไรก็ให้ทุกคนเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วผมจะมาเบี้ยวไม่ได้   หลายคนมาบอกว่า ผมจะเบี้ยวไม่ให้เลือกตั้ง ถึงอย่างไรก็ต้องเลือก  รัฐธรรมนูนเขียนไว้   เข้าใจหรือยัง แล้วมีใครปวดหัวปวดท้องกับเรื่องเลือกตั้งหรือไม่   มีผมที่ปวดอยู่ทุกวัน ตื่นเช้ามาก็มีแต่เลือกตั้งๆ เลื่อนเลือกตั้ง ไม่เลื่อนเลือกตั้ง มันอะไรกันนักหนา ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมเคารพกติกา แต่เมื่อมีเหตุ มีความจำเป็นก็ไปว่า กันมา ก็ไปแก้กันมา  ไม่ใช่เรื่องของผม”

ก่อนลงจากเวทีพล.อ.ประยุทธ์ พูดขึ้น ว่า “ บ๊ายบาย แต่ไม่ใช่ลาก่อน”

จากนั้นไปเป็นประธานเปิดศูนย์แสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก และได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ที่นี่​ นายสล่าตื่น​ แก้วเตียม​ วัย​ 77​ ปี​  ช่างแกะสลักไม้​รุ่นบุกเบิกแห่งบ้านหลุก ได้มอบไม้สัก​แกะสลัก​รูปพลเอกประยุทธ์ ให้เป็นของที่ระลึกด้วย​   แล้วพล.อ.ประยุทธ์ ตีกลองสะบัดชัย  เป็นเกียรติในการมาเยี่ยม​หมู่บ้านหลุก  แหล่งโอท็อปไม้แกะสลัก  แห่งลำปาง 

การมาเชียงใหม่และลำปางครั้งนี้  เว็บไซต์รัฐบาลไทย  เผยแพร่ข่าวเป็นตอนๆ

วันนี้ (จันทร์ 14 มกราคม 2562) เวลา 08.25 น. ณ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เดินทางจากกองบิน 41 เพื่อไปสักการะอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา และร่วมถ่ายรูปกับข้าราชการท้องถิ่น กลุ่มแม่บ้านและประชาชนที่มารอให้การต้อนรับ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อำเภอจอมทอง เพื่อสักการะพระธาตุศรีจอมทองและกราบนมัสการพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) โดยในช่วงสายวันนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบปะประชาชน ครูและนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 อำเภอแม่แจ่ม เพื่อติดตามความสำเร็จโครงการแม่แจ่มโมเดลและเยี่ยมชมการจัดการขยะของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 และโครงการธรรมชาติปลอดภัย บ้านแม่ปาน ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (จันทร์ 14 มกราคม 2562) เวลา 11.40 น. ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมความสำเร็จโครงการ “แม่แจ่มโมเดล และแม่แจ่มโมเดล (พลัส) ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืนด้วยกลไกประชารัฐ  โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ทั้งนี้ มีประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ลัวะ ปกาเกอะญอ ม้ง กว่า 6,000 คน มารอให้การต้อนรับ
 
เมื่อเดินทางมาถึง นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน ในโอกาสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ นางภัทรลดา สุวรรณนวล กำนันตำบลแม่นาจร ในฐานะผู้แทนชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม และมอบเอกสารโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินพื้นที่ลุ่มนา 1 และ 2 ให้ชุมชนภายใต้นโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ บ้านต่อเรือ ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านกองแขกเหนือ ตำบลกองแขก ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่ม จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมตามนโยบายรัฐบาล ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา ท้องที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน และในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
 
จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวในการพบประชาชนว่า การลงพื้นที่เพื่อมาพบเห็นสถานการณ์ด้วยตนเอง ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะทำงานอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกคนหวงแหนผืนป่า ให้ใช้สอยที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งที่อยู่อาศัย เกษตรกรรมและการลงทุน อย่าตัดไม้ทำลายป่าและการเผาป่านั้นก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน วันนี้ในพื้นที่สถานการณ์ดีขึ้นด้วยประชารัฐ และรัฐบาลยังส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์
 
สำหรับสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน  ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นทาง โดยได้สั่งการหน่วยงานเร่งดำเนินการและขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองด้วย  ซึ่งวันนี้ปัญหาหมอกควันก็เป็นปัญหาในเมืองอย่างกรุงเทพมหานครด้วย  และวันนี้ต้องขอบคุณคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอำเภอแม่แจ่ม หรือที่เรียกว่า ทีมประชารัฐแม่แจ่ม  ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ “การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า” ของจังหวัดเชียงใหม่ ผสมผสานนโยบายพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล  เน้นการจัดการเชิงพื้นที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอย่างยั่งยืน  เน้นให้คนอยู่กับการป่า  มีการสร้างรายได้ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกันป่า ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมความพร้อมในการรับกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ต้องช่วยกันจัดสรรน้ำให้เหมาะสม ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์ ขณะเดียวกัน หน่วยราชการในพื้นที่ก็ต้องเร่งให้การศึกษากับชุมชนอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามแนวคิดกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นด้วยการพึ่งพาตัวเอง เช่น อาชีพเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัว ปลูกไผ่ ปลูกป่า ส่งเสริมงานหัตถกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น เพื่อนำไปจำหน่ายในตลาด สร้างงานสร้างรายได้อีกด้วย ขณะเดียวกันก็ขอให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามความสามารถของตนเอง
 
​​นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชน มีการจัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่ วันนี้รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติหรือปัญหาต่าง ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก หนี้นอกระบบ มีการแก้กฎหมายขายฝาก ลดความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ โดยให้มีการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันด้วยกลไกประชารัฐทั้งในระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยรัฐบาลได้วางพื้นฐานตาม Road Map ของประชารัฐให้ตรงกับความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งจากภายในชุมชนไปสู่จังหวัดและภูมิภาค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ต้องขอให้สื่อมวลชนและสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ด้วย เพราะตอนนี้มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือ พรรครัฐบาลที่ทำงานให้ประชาชน
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ยังได้เดินทักทายประชาชน และสอบถามการทำมาหากินโดยให้เน้นดูแลสุขภาพ จากนั้นยังได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล อาทิ โครงการเชื้อเพลิงชีวมวลจากข้าวโพด การปลูกไม้มีค่า ไทยนิยมสู้ไฟ ปลอดควันไฟยั่งยืน โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส
 
อนึ่ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เป็นสถาบันการศึกษาที่มีระบบการบริหารงานธนาคารขยะโรงเรียนผ่านโปรแกรมที่ทันสมัย  คัดแยกขยะจากต้นทางตามหลักการ 7r (rethink, reduce, reuse, recycle, repair reject, return) สามารถลดปริมาณขยะและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับขยะ และสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าจากขยะเหลือใช้ ทั้งนี้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เปิดรับนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กมีปัญหา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาที่ 6  โดยปลูกฝังลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ “สุขภาพดี คุณธรรมเด่น เป็นจิตอาสา” ให้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

—————————

สำนักโฆษก

วันนี้ (14 ม.ค.62) เวลา 19.00 น. ณ โรงงานอินทราเซรามิก ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้พบกับผู้นำภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ อาทิ ประธานกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 นายกสมาคมผู้ประกอบการไม้จังหวัดลำปาง นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง  นายกสมาคมเซรามิกส์ไทย และผู้บริหารบริษัท อินทราเซรามิก จำกัด ฯลฯ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการผลิตเซรามิก การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้และครั่ง ของลำปางนครหัตถศิลป์ ถิ่นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์เซรามิก ที่อินทราเอาท์เลท  ซึ่งบริษัท อินทราเซรามิก จำกัด เป็นผู้ผลิตสินค้าเซรามิกบนโต๊ะอาหาร และตกแต่งบ้าน ใช้การตกแต่งลวดลายโดยการวาดด้วยมือ รวมทั้งสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ภายใต้ชื่อ “อินทราเอาท์เลท (Indra Outlet)” บนพื้นที่ 8 ไร่ ติดกับตัวโรงงาน จำหน่ายสินค้าของบริษัท อินทราเซรามิกและสินค้าเซรามิกจากโรงงานอื่น ๆ กว่า 30 โรงงาน ปัจจุบันอินทราเอาท์เลทนับเป็นแหล่งเลือกซื้อสินค้าและท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง และมีการส่งไปจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  โดยมี คณะผู้บริหารบริษัท อินทราเซรามิก จำกัด ผู้นำภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
 
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในพื้นที่จังหวัดลำปางครั้งนี้ นอกจากมุ่งเป้าหมายและให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ  การจัดการที่ดิน และการพบปะเยี่ยมเยียนกับประชาชนในพื้นที่เพื่อรับทราบถึงอุปสรรคปัญหา ตลอดจนการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปาง ที่ถือได้ว่าเป็นหัตถอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียง ซึ่งจังหวัดมีความพร้อมในด้านแหล่งวัตถุดิบ ทั้งแหล่งดินขาวที่มีคุณภาพสูง มีโรงงานและแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีจุดเด่นที่สามารถทำงานหัตถศิลป์สู่หัตถอุตสาหกรรม โดยคงอัตลักษณ์ของลำปาง อาทิ “ชามตราไก่” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI แล้ว นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่หลากหลายตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่ง ของบูชา และนวัตกรรมหลายชนิด สามารถส่งออกไปทั่วโลก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้การสนับสนุนตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิต (ต้นน้ำ) การพัฒนากระบวนการผลิตและการออกแบบ (กลางน้ำ) และการจัดงานเซรามิกแฟร์ (ปลายน้ำ) อีกทั้ง ได้มีการจัดเตรียมแผนงานสนับสนุน เพื่อยกระดับสินค้า ให้ได้มาตรฐานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาให้ลำปาง เป็น Creative Industrials Design Capital หรือ ลำปางนครหัตถศิลป์ ถิ่นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลต่อไป
       
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของภาคเอกชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ ทุกภาคส่วน  โดยในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย ได้แนะนำให้สร้าง story เรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และสินค้าให้น่าสนใจเพื่อเพิ่มมูลค่า และจะทำให้สามารถจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะ  ได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์เซรามิก ภายในอินทราเอาท์เลท (Indra Outlet) พร้อมสอบถามเกี่ยวกับการผลิตเซรามิกด้วยความสนใจ  โดยนายกรัฐมนตรี ได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยตนเอง ได้แก่ แก้วเซรามิก และของตกแต่งภายในบ้าน เช่น เซรามิกที่เป็นรูปปั้นสุนัข ยีราฟ เสือ เป็นต้น รวมทั้ง ได้เซ็นชื่อบน “ชามตราไก่”  ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของลำปาง เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมเซรามิกที่อินทราเอาท์เลท ณ โรงงานอินทราเซรามิกด้วย  ก่อนเดินทางต่อไปยังสะพานรัษฎาภิเศก ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อเยี่ยมชมสะพานรัษฎาภิเศกและ Street Art  ริมแม่น้ำวัง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และ Creative Tourism ของรัฐบาลต่อไป

——————-

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

matemnews.com 

14  มกราคม 2562