Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ทำไม สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผิด พลเอกประวิตรไม่ผิด

ทำไม สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผิด พลเอกประวิตรไม่ผิด

436
0
SHARE

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกาหรูที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่พลเอกประวิตร สวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่าพลเอกประวิตร เป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่าการตรวจสอบทรัพย์สินในต่างประเทศในกรณีนี้ เป็นการตรวจสอบไปยังประเทศที่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาตั้งอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบทวีปยุโรปซึ่งมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัด ในการดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผ่านอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางนั้น จึงมีประเด็นสำคัญในเรื่องหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality ซึ่งมีหลักการว่าฐานความผิดในการขอความร่วมมือต้องเป็นความผิดทางอาญาของประเทศผู้รับคำร้องด้วย ซึ่งกรณีนี้เป็นความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งในบางประเทศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริต แต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่เป็นความผิดทางอาญาในประเทศผู้รับคำร้อง ประเทศดังกล่าวจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้นการขอความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านอัยการสูงสุดเป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานมากเป็นปีในการขอความร่วมมือดังกล่าว

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการตามระเบียบ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2555 ข้อ 23 ซึ่งกำหนดให้ในกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการขอให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทยในประเทศดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลให้ได้ โดยตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เนื่องจากทรัพย์สินในกรณีนี้คือนาฬิกาซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนตามกฎหมาย มีการซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยาก ประกอบกับข้อมูลความเป็นเจ้าของดังกล่าวถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศจึงปฏิเสธไม่เปิดเผย นอกจากนี้บางประเทศได้มีการอ้างถึงหลักความผิดสองรัฐหรือ Dual Criminality โดยแจ้งว่าการยื่นบัญชีเท็จไม่เป็นความผิดอาญาในประเทศของตน จึงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลไม่ว่าจะมีการขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

สำหรับประเด็นที่มีการนำกรณีการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรู ไปเทียบเคียงกับการตรวจสอบคดีรถโฟล์กสวาเกนของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า กรณีนี้อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้องว่าพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีแตกต่างกัน สำนักงาน ป.ป.ช..จึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบ เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเป็นการทั่วไป ดังนี้

คลิกอ่านสำนักข่าวอิศรา

https://goo.gl/mHdt9g

https://goo.gl/oG5a6r

matemnews.com 

18 มกราคม 2562