Home ข่าวทั่วไปรอบวัน มส.ผส. ชี้ ผู้สูงอายุไทยถูกละเมิดด้านจิตใจ ทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น

มส.ผส. ชี้ ผู้สูงอายุไทยถูกละเมิดด้านจิตใจ ทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น

483
0
SHARE

มส.ผส. ชี้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิยังสูงทุกด้าน โดยเฉพาะจิตใจ ทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย ทอดทิ้ง ล่วงละเมิดทางเพศ เสนอกลไกคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ตั้ง one stop service ดูแล สสส.หนุนอปท.ขับเคลื่อนกลไกเฝ้าระวังละเมิดสิทธิ์ผู้สูงอายุ ลดความรุนแรง ยกระดับคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ: ปัญหาและการจัดการ”

โดยพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวปัจฉิมกถา “ยุทธศาสตร์ชาติกับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ”ตอนหนึ่งว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยซึ่งพบจากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย พบว่าปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่าเคยถูกกระทำรุนแรงด้านจิตใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ บางครั้งผู้สูงอายุรู้สึกว่าลูก-หลานไม่เข้าใจ ไม่มีเวลาให้ ไม่เป็นคนสำคัญในครอบครัว อันดับที่ 2 คือ การทอดทิ้ง ไม่ดูแล สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) พบว่า จากเดิมจะมีข้อมูลปัญหาผู้สูงอายุพลัดหลง สูญหาย เร่ร่อนเป็นอันดับ 1 แต่ปัจจุบันเป็นปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล รวมทั้งปัญหาลูกหลานดูแลผู้สูงอายุไม่ไหว และสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด ส่วนปัญหาความรุนแรงอันดับ 3 ที่การศึกษาพบคือ การเอาประโยชน์ในด้านทรัพย์สิน คนในครอบครัวเอาทรัพย์สินไป

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญจึงได้ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สังคมสูงอายุ” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ซึ่งการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุนั้นถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่งประการหนึ่ง โดยพม. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายจากการถูกกระทำรุนแรง หรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาครอบครัว และเก็บรวบรวมสถิติปัญหาการกระทำรุนแรงในครอบครัว

นางภรณี  ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยกำลังเผชิญจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาครัฐได้พัฒนามาตรการ ระบบ กลไกต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุภายใต้นโยบายรัฐบาลที่ได้ประกาศให้ประเด็นสังคมผู้สูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ประเด็นการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่จะมีการขับเคลื่อนภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาตินี้ ซึ่ง สสส. เป็นผู้สนับสนุน มส.ผส. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ และทบทวนสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสื่อสารสาธารณะให้สังคมทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย แนวทางการดำเนินงานที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่เพิกเฉยต่อการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ต่อผู้สูงอายุ และพิทักษ์คุ้มครองสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุตามแนวทางที่เหมาะสม สสส. หวังว่าในระยะเวลาอันใกล้ภาครัฐ จะร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ในการขับเคลื่อนกลไกการเฝ้าระวังการกระทำความรุนแรงและละเมิดสิทธิ์ผู้สูงอายุตามความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อลดสถานการณ์การกระทำความรุนแรง และละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไทยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคมได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

          พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมส.ผส.ว่า ปัญหาสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิมีหลายรูปแบบและมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยไปถึงข้ันเสียชีวิต และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงที่สุด รองลงมาคือการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สิน  ถัดมาคือทำ ร้ายร่างกาย ถูกทอดทิ้ง รวมถึงละเมิดทางเพศ โดยข้อมูลจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติ คดีอาญาตั้งแต่ปี 2544-2558 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงทรัพย์สิน ลักทรัพย์และปล้นทรัพย์ เพิ่มขึ้นเป็นลําดับ จากปี 2548 มี จํานวนผู้เสียหาย 73 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 243 รายในปี 2549 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2558 มีผู้เสียหายจํานวน 703 ราย สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมากคือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน หรือไม่มีครอบครัว มีความเจ็บป่วย ต้องการพึ่งพาผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่

          พญ.ลัดดา กล่าวต่อว่า ปัญหาของผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มมากขึ้น แต่กลไกทางสังคมและกฏหมายกลับมีช่องโหว่ในการคุ้มครองดูแล โดยในทางกฎหมายนั้น ไม่ได้พิจารณาให้ความเสื่อมทางร่างกายเป็นเหตุแห่งการสูญเสียสิทธิหรือเป็นเหตุที่ต้องให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย จากช่องว่างความคุ้มครองทางกฎหมายทําให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ จำนวนมากมส.ผส. เสนอว่า ควรจะมีการพัฒนากลไกเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิหรือกลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจัดให้มีระบบการลงทะเบียน ผู้สูงอายุทุกคนที่ต้องการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือและ การสร้างระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงเพื่อสามารถจัดความช่วยเหลือได้ถูกต้องนอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ควรระบุหน้าที่ ภารกิจ และการประเมินผลงานของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน เช่น นักสังคม สงเคราะห์ที่ทํางานในท้องถิ่นหรือในโรงพยาบาล อาสาสมัครในชุมชน ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ one stop service สําหรับผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุต้องการข้อมูล ความช่วยเหลือ การปรึกษาปัญหา สามารถมาติดต่อที่ศูนย์ one stop service ได้ ส่วนภาคประชาสังคมควรจะสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมคนทุกช่วงวัย ตลอดจนชมรมผู้สูงอายุ สร้างความ เข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ โดยมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม

    “สิ่งสำคัญที่สุดคือการการทบทวนปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ประกอบด้วย 1. พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 นั้นบทบัญญัติส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้ประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ยังไม่ครอบคลุมถึงการป้องกัน การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ  อีกทั้งขาดมาตรการลงโทษ ควรปรับปรุงให้มี บทบัญญัติในการกํากับดูแลผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ 2.แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทําความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เป็นการเข้าไปช่วยเหลือยังทําได้ไม่เต็มที่เนื่องจากตัวผู้สูงอายุเองปฏิเสธความช่วยเหลือเพราะต้องการปกป้องลูกหลานผู้กระทําผิด 3.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ความคุ้มบุคคลที่ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ โดยต้องมีลูกหลานหรือบุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมายเป็นผู้ไปร้องขอต่อศาล และจัดหาเครื่องมือหรือมาตรการทางเลือกสําหรับบริหารจัดการทรัพย์สินให้ผู้สูงอายุที่โดยผู้สูงอายุสามารถตั้งทรัสต์และกําหนดเงื่อนไขใน ข้อสัญญา และต้องมีกลไกผู้ตรวจสอบ ควบคุมพฤติกรรมของทรัสตี ว่าดําเนินงานโปร่งใสดังเจตนารมย์ผู้ก่อตั้งทรัสต์หรือไม่