Home ข่าวทั่วไปรอบวัน นักการเมือง พรรคการเมืองหาเสียงโซเชียลได้โดยต้องแจ้ง กกต.ก่อน – ป้องกันปลอมใส่ร้าย

นักการเมือง พรรคการเมืองหาเสียงโซเชียลได้โดยต้องแจ้ง กกต.ก่อน – ป้องกันปลอมใส่ร้าย

305
0
SHARE

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 25 ม.ค.2562 ประเด็นว่าด้วย กกต.ให้ใช้หลักฐานการยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ว่า

กกต.ได้พูดคุยกันแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมาย  เรามีข้อกังวล  แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีถึงปีที่รับสมัคร  จึงมีมติว่าหลักฐานภาษีที่จะใช้ต้องใช้ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2559, 2560 และ 2561 ซึ่งการเสียภาษีของปี 2561 ทางกรมสรรพากรให้เสียภาษีตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 62 ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว และขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมายื่นสมัคร ส่วนที่มีบางคนอาจจะมีปัญหาในการรวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้ไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากรก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานใบเสร็จการเสียภาษีมายื่นสมัครต่อ กกต.ก่อน แล้วค่อยไปยื่นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ภายหลังต่อกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม การเสนอให้ กกต.ผ่อนผันเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถทำได้เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดอยู่ในกฎหมาย

การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ขณะนี้ใครที่มี  เฟซบุ๊ก ไลน์  ก็ไม่ต้องลบแอ็กเคานต์ โดยสามารถแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย  แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัครแต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว การหาเสียงต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ  ระเบียบ กกต.ที่ออกมาในเรื่องยี้ก็เพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ให้ไม่ถูกผู้อื่นปลอมแอคเคาท์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี  และเพื่อ กกต.จะคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง  ยืนยันว่า กกต.ให้อิสระและเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ ทุกพรรคสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่อย่าทำผิดกฎหมาย และขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐาน  ตอนนี้ กกต.ได้ประสานกับทุกมีเดีย  สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้หารือกับผู้บริหารกูเกิลเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย  และสัปดาห์หน้าก็จะไปคุยกับไลน์ประจำประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย”

กรณีผู้สมัครพรรคการเมืองตำหนิ กกต.ล่าช้าเรื่องการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงนั้นกกต.กำลังเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัคร  จึงไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต   รายละเอียดเหล่านี้ผูกกับการคำนวณจำนวนป้าย และผู้ช่วยหาเสียง เช่น กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 10 ของจำนวนเขตที่ส่งสมัคร เรื่องการหาเสียงสามารถดำเนินการได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายซึ่งเริ่มนับแล้ว

ความคืบหน้าการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง มีการจัดงบประมาณสำหรับการพิมพ์บัตรเลือกตั้งแล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของ กกต. แต่ยังไม่มีการทำสัญญจัดจ้าง เพราะการดำเนินการจะต้องเริ่มเมื่อปิดรับสมัคร  จึงจะรู้จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต เลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่ขอให้มั่นใจว่ารูปแบบของบัตรจะมีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อและโลโก้พรรค เนื่องจากอยู่ในระเบียบที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ส่วนบัตรในแต่ละเขตจะมีกี่หมายเลขยังไม่สามารถตอบได้  เพราะจะต้องเป็นไปตามจำนวนพรรคที่ส่งสมัครในเขตนั้นๆ ขณะนี้มีพรรคการเมืองในระบบจำนวน 105 พรรค แต่ถึงเวลาปิดรับสมัครจะมีกี่พรรคยังตอบไม่ได้

matemnews.com 

25 มกราคม 2562