Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ยาไทยมีกัญชาผสมอยู่ 16ตำรับ

ยาไทยมีกัญชาผสมอยู่ 16ตำรับ

1082
0
SHARE

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกเมื่อตอนบ่ายวันที่ 25ม.ค.2562  แลถงแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน  ว่า

“กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะเป็นแกนกลางในการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยทั้งหมด เพื่อนำสู่การแปรรูปเชิงพาณิชย์  เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร โดยทั้งหมดมีมูลค่าเป็นแสนล้าน ส่วนการพัฒนาเรื่องสารสกัดจากกัญชา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะนี้กำลังผลักดันร่างกฎหมายเพื่อให้กัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ยังเป็นสารเสพติดอยู่   ก็จะมีกรอบในการใช้   กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   จะเป็นแกนหลักในการออกกฎกระทรวง ระเบียบต่างๆทั้งการเพาะปลูก แปรรูป และการขึ้นทะเบียน   ตรงนี้ทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการและให้ข้อมูลเหล่านี้   โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ทั้งหมดไม่ต้องกังวล จะมีกรอบระเบียบในการใช้อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว”

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก   แถลงว่า

“ที่ผ่านมากรมฯได้มีการรวบรวมสูตรตำรับยาแผนไทย เพื่อเสนอต่อ รมว.สธ. เบื้องต้นได้มีการศึกษาและหารือกันกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆหลายครั้ง สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ควรจะมีการใช้ตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชามาจากตำรับยาของชาติเท่านั้น    ที่มีอยู่กว่า 26,000 ตำรับ  เมื่อตรวจสอบดูแล้ว เบื้องต้นมีอยู่ 212 ตำรับ แต่มีความซ้ำซ้อนกัน   เมื่อดูแล้วเหลือเพียง 90 ตำรา   ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จึงต้องมาประชุมกันอีกว่าในส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้ตรงไหนได้บ้าง เนื่องจากของเดิมถูกห้ามใช้เนื่องจากบอกว่าเป็นยาเสพติด  เมื่อได้มาสรุปกันแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่ม ก. 16 ตำรับ  มีกัญชาเป็นส่วนประกอบใหญ่  และบางตำรับก็เป็นยาที่ใช้กันอยู่ แต่มีการตัดส่วนผสมที่เป็นกัญชาออก   ในกลุ่มนี้น่าจะสามารถปรุงเอง รักษาเอง จัดการเองได้ไม่ยาก แต่หากโรงพยาบาลใดที่ไม่พร้อม แต่มีแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน อยากใช้จริงๆ กรมฯ จะผลิตและจำหน่ายผ่าน อย. ตามระบบ ซึ่งจะใช้ทั่วประเทศได้  16 ตำรับส่วนใหญ่รักษาเรื่อง  ลม การนอนหลับ แก้ปวด รับประทานอาหารได้ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ประกอบด้วย 

1. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ 

2.ยาอัคคินีวคณะ

3.ยาศุขไสยาศน์ 

4.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย

5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง

6.ยาไฟอาวุธ

7.ยาแก้นอนไม่หลับ หรือยาแก้ไข้ผอมเหลือง

8.ยาแก้สัณฑฆาต กร่อนแห้ง

9.ยาอัมฤตโอสถ

10.ยาอไภยสาลี

11.ยาแก้ลมแก้เส้น

12.ยาแก้โรคจิต

13.ยาไพสาลี 

14.ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง

15.ยาทำลายพระสุเมรุ  

16.ยาทัพยาธิคุณ

กลุ่ม ข. 11 ตำรับ คือกลุ่มที่เห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่วิธีที่จะมาปรุงยาอย่างไร บางครั้งยังไม่ชัดเจน หรือมียาสมุนไพรบางอย่างที่ระบุเอาไว้ยังหาได้ยาก ซึ่งอาจจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อน

กลุ่ม ค. มี 31 ตำรับ คือกลุ่มที่ยังไม่แน่นอน และมีส่วนผสมของกัญชาน้อย  ดูแล้วไม่น่าจะมีผลเท่าใดนัก แต่มีการเขียนไว้ในคัมภีร์ คำกลอน บ้าง หรือยังไม่ระบุว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ หรือวิธีการใช้ วิธีการปลูกก็ยังได้ชัดเจน  หากจะใช้จริงก็ต้องมีการศึกษาวิจัยก่อนว่าใช้ได้ผลอย่างไร

กลุ่ม ง. หลายตัวมีแพทย์แผนไทยบางส่วนอยากใช้  แต่เนื่องจากมีสารพิษบางตัวผสมอยู่ เช่น ปรอท สารหนู หรือมีตัวที่ทางองค์การอนามัยโลก ห้ามใช้ เช่น คล้ายเครือ  เนื่องจากมีสารพิษอยู่ หรือมีส่วนประกอบของพืชและสัตว์ ซึ่งประกาศห้ามใช้ตามอนุสัญญาไซเตส  (CITES) หากใช้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากโลก  ดังนั้นในกลุ่มนี้หากจะมีการใช้ตัดบางตัวที่เป็นพิษออกไปได้หรือไม่ หรือจะใช้บางตัวบอกว่าพิษแก้พิษ เราก็ไม่กล้าใช้

หากจะใช้ในส่วน ค. และ ง. ต้องมีการดูแลประชาชนอย่างดี หากเกิดผลเสียการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเสียไป เพราะฉะนั้นต้องเป็นโครงการงานวิจัยเท่านั้นที่จะวิจัยและมีการติดตามพิเศษเพื่อเช็คผลที่จะเกิดขึ้น

ที่ใช้ได้เลยหากกฎหมายออกมา คือ กลุ่ม ก. ซึ่งมี 16 ตำรับ แต่ทั้งหมดต้องขออนุญาตคณะกรรมการยาเสพติด และเกณฑ์ตามที่ อย.กำหนด จากนั้นจึงออกเป็นประกาศโดย รมว.สธ.ลงนาม   ขณะนี้ จึงยังใช้ไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่มีมารองรับ

นักข่าวถามว่า กฎหมายจะรองรับให้รายบุคคลใช้ได้แล้วหรือไม่ นพ.มรุต ตอบ

 อนุญาตใน 4 กลุ่ม แต่ต้องผ่านการอบรม การขออนุญาต จะมีระบบในการตรวจสอบเข้มงวด เพราะกัญชาก็เป็นยาเสพติด เพียงแต่อนุญาตให้นำมาใช้ทางการแพทย์ รวมทั้งเมื่ออนุญาตแล้วก็จะมีระบบตรวจสอบอีก ที่สำคัญแพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน ในกติกาเดิมสามารถปรุงยาของตัวเองได้   อาจต่างจาก 16 ตำรับ  ในเรื่องนี้ก็ต้องเอาตำรับของตัวเองมาแจ้งทางกรมฯ และจะต้องผ่านคณะกรรมการว่าใช้ได้หรือไม่   เพื่อเป็นการรัดกุม และป้องกันการใช้ในทางที่ผิด ทางกรมฯ มี 2 ทางเลือก คือ

1.จะผลิตออกเป็นตำรับยาสำเร็จ และกระจายให้ทางโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการมาขึ้นทะเบียนรับไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยแบบมีข้อกำหนด

 2.จะทำเป็นเครื่องยาผสมกัญชากลาง สำหรับการปรุงยาเฉพาะรายขึ้น เพื่อให้ไม่ต้องไปหาวัตถุดิบเอง ไม่ต้องหากัญชาเดี่ยวๆ แต่เราจะทำเป็นเครื่องยาผสมกัญชาแล้ว

เรื่องสิทธิบัตรกัญชา ที่ยังไม่ชัดเจนนั้น ของเรากระทบน้อย ตรงที่เป็นการใช้แบบสด แต่ที่ต่างชาติมาจดสิทธิบัตรจะเป็นเรื่องสารสกัด THC และ CBD  แต่กรมฯก็เป็นห่วง เพราะจริงๆ ก็ไม่น่าจะขอสิทธิบัตรได้ เนื่องจากเป็นสารธรรมชาติ และตัวกัญชาก็ยังเป็นยาเสพติดอยู่

matemnews.com

25 มกราคม 2562