Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ฝุ่นจิ๋ว – ปั่นจักรยานได้มั๊ย Tokyo Bike Thailand มีคำตอบ

ฝุ่นจิ๋ว – ปั่นจักรยานได้มั๊ย Tokyo Bike Thailand มีคำตอบ

542
0
SHARE

เฟชบุ้ค   Tokyobike Thailand

PM 2.5 and Cyclists

เมื่อมีสภาวะฝุ่นจิ๋ว นักปั่นต้องทำอย่างไร

🚴‍♀️🚴‍♀️

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศและค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังเป็นประเด็นมาแรงมากในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆก็กำลังพยายามออกมาให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมมากขึ้น และแน่นอนเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น บางครั้งก็กลายเป็นดาบสองคม แทนที่จะสร้างความตระหนัก กลายเป็นสร้างความตระหนก บางคนถึงขั้นบอกว่า จะงดออกกำลังกายกลางแจ้งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งความจริงแล้ว เรามองว่าการออกกำลังกายน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องเพราะการสร้างภูมิต้านทานก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในสภาวะแบบนี้ คำพูดที่ว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป” น่าจะเหมาะกับบริบทของคนที่เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง

ในฐานะคนรักการปั่นจักรยาน เราจึงอดไม่ได้ที่จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า นักปั่นจะยังสามารถปั่นจักรยานในเมืองได้ไหม ไม่ว่าจะคนที่ต้องปั่นประจำเพื่อไปทำงานทุกวัน หรือคนที่ปั่นเล่นสม่ำเสมอ

🚴‍♀️ นักปั่นสูดควันพิษน้อยกว่า

เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก ว่ามีการศึกษาวิจัยโดย KIng’s College London (ซึ่งทำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ในหน้าหนาว สภาพอากาศปิด และค่า PM 2.5 แย่กว่าปักกิ่ง) และค้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างนักปั่นนั้นได้รับอากาศพิษน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ขับรถส่วนตัว นั่งรถไฟใต้ดิน หรือนั่งรสบัสเสียอีก ด้วยคำอธิบายที่ว่า ในสภาพการจราจรติดขัด นักปั่นสามารถลัดเลาะไปข้างทางและใช้ความเร็วได้มากกว่ารถบนท้องถนนที่เคลื่อนตัวช้าสลับหยุดนิ่ง ด้วยระยะทางที่เท่ากันนักปั่นจึงใช้เวลาน้อยกว่าในพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลนี้ ตรงกับการศึกษาวิจัยอีกงานหนึ่งในเมือง Leeds ที่แสดงผลว่า ด้วยระยะการเดินทาง(ในงานวิจัย) 4 กม. เท่ากัน นักปั่นถึงจุดหมายเร็วที่สุด และได้รับสารจากควันพิษน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับคนที่ขับรถส่วนตัวและคนที่นั่งบัส ส่วนคนเดิน แน่นอนว่าใช้เวลาบนท้องถนนนานที่สุดจึงได้รับควันพิษไปมากที่สุดด้วย

🚗 นั่งในรถไม่ได้แปลว่ารอด

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยยังระบุว่า การสูดดมควันพิษของผู้ที่นั่งอยู่ในรถยนต์ที่ติดอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานานถือเป็นการ “รับตรง” จากท่อไอเสียรถคันหน้าเนื่องจากระบบกรองอากาศในรถไม่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ 100% อีกทั้งเหมือนติดอยู่ใน”ระบบปิด” จึงต้องรับอากาศพิษเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่นักปั่นหายใจอากาศในสภาพที่มีอากาศเปิดกว่าและไหลเวียนดีกว่า อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้เส้นทางรองที่ไม่มีการจราจรหนาแน่นหรือมีฝุ่นควันน้อยกว่าได้

🚲 ปั่นย่อมดีกว่าไม่ปั่นเลย

ในขณะที่ผลระยะยาวของโลหะหนักที่เข้าสู่กระแสเลือดไปพร้อมๆกับ PM 2.5 ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นักวิจัยก็ยังคงสบับสนุนให้ปั่นจักรยานเพราะทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น เราคงไม่ได้กำลังจะบอกว่าให้คว้าจักรยานและออกไปปั่นโดยไม่ต้องสนใจคำเตือนเรื่องค่า PM 2.5 แต่คงจะแนะนำตามผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทำกรณีศึกษาในกรุงนิวเดลี (ซึ่งโดยเฉลี่ยค่า PM 2.5 สูงถึง 150) ให้มีเทคนิควิธีการที่จะเซฟตัวเองด้วย

🌲เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับนักปั่น

– สวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM 2.5 ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น N95 เพราะนอกจากจะใช้ยากแล้วยังทำให้หายใจลำบากขึ้น ไม่เหมาะกับการนำมาใส่ออกกำลังกาย สามารถหาซื้อหน้ากาก PM 2.5 ได้ที่ร้าน Daiso ทั่วไป

– เลือกปั่นในเส้นทางรองที่ไม่ผ่านถนนใหญ่ และ/หรือสี่แยกใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยทางท้องถนน และเป็นการหลีกเลี่ยงฝุ่นควันพิษบนเส้นทางหลักอีกด้วย ถึงแม้จะอ้อมกว่าแต่ย่อมปลอดภัยกว่า

– อย่าใช้เวลาปั่นบนท้องถนนเกิน 45 นาที จากคำแนะนำของหัวหน้าทีมวิจัยที่ Cambridge University หากปั่นจักรยานในสภาวะที่มีฝุ่นควันพิษ (และใช้หน้ากากป้องกัน) ไม่เกิน 45 นาที นักปั่นจะได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ แต่หากเกินกรอบเวลานี้แล้วการปั่นจะให้โทษมากกว่า

– ต้นไม้ ไม่เฉพาะแต่ไม้ยืนต้นสูงๆ แต่รวมไม้พุ้มเตี้ยๆ สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างดี ถ้าปั่นบนถนนแล้วไม่สบายใจ ก็เลือกไปปั่นในสวนแทน

ในตอนหน้าจะมาแนะนำสวนสาธารณะที่นำจักรยานเข้าไปปั่นได้นะคะ

*ข้อมูลอ้างอิงจาก theguardian.com; cyclinguk.org; และ bicycling.com

https://goo.gl/L2Sy1Z

matemnews.com

25มกราคม2562