พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อตอนเช้าวันที่ 1 ก.พ.2562 โดยได้การบรรยายเรื่อง “นโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.” ตอนหนึ่งว่า
จากกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 นั้น ปัจจุบันถือว่าค่า CPI ของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับกลางๆของอาเซียน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีการตั้งสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จะทำหน้าที่มอนิเตอร์ค่าคะแนนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยจะต้องดูว่าคะแนนในแหล่งข้อมูลที่ลดลงเกิดจากอะไร และจะทำอย่างไรให้คะแนนดีขึ้น ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่ก็จะต้องมาดูว่าจะเพิ่มคะแนนได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีการประสานงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และรัฐบาล เพราะการจะทำให้ค่า CPI ดีขึ้นต้องอาศัยการดำเนินการของรัฐบาล นอกจากค่า CPI ที่ถือว่าเป็นการการประเมินระดับนานาชาติแล้ว ประเทศไทยยังมีค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ซึ่งเป็นผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าปี 2555 -2556 ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่และนักการเมืองที่ทุจริต เฉลี่ยอยู่ที่ 25-35% ปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ปี 2558-2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 1-15% และในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% หากเราลดการจ่ายเงินใต้โต๊ะได้ 1% จะประหยัดงบประมาณได้ถึงหมื่นล้านบาท ในการสำรวจค่า CSI ปีล่าสุด มีการจัดทำเป็นระดับคะแนน ซึ่งพบว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมีแนวโน้มจะลดลงหรือสถานการณ์ดีขึ้น โดยปัจจุบันได้ 54 คะแนน และมีแนวโน้มได้ 57 คะแนนในอนาคต ทั้งนี้เวลาทำงานของ ป.ป.ช. จะต้องตระหนักทั้งค่าคะแนน CPI และค่าคะแนน CSI ด้วย
Matemnews.com
1 กุมภาพันธ์ 2562