Home ข่าวทั่วไปรอบวัน โฆษกพรรคเพื่อชาติจัดหนักพลเอกประยุทธ์ไม่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

โฆษกพรรคเพื่อชาติจัดหนักพลเอกประยุทธ์ไม่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

318
0
SHARE

น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ​ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 11 ก.พ.2562 ว่าด้วยเหตุผลที่ประชาชนไทยไม่ควรเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  มาเป็นนายกฯ อีกครั้ง  ด้วยเหตุผล 8 ข้อแต่เหตุผลที่หนักหนาที่สุด คือ

การบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คสช. คนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน หรือเกือบล้านคนระหว่างปี 58-59  ปริมาณคนจนเพิ่มขึ้นมากกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551  โดยในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน

แต่วิกฤติ คสช. ประชาชนทั้งประเทศรู้ตัวว่ายากจน แต่ไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศ เนื่องด้วยสื่อถูกจำกัดเสรีภาพ  จึงไม่มีการรายงาน

นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ไม่ควรมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเพราะ มีความเป็นเผด็จการสูง เหยียดเพศ สร้างค่านิยมไม่รักษาคำพูด เห็นแก่ตัว ยกตนข่มท่าน เอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น และไม่มีน้ำใจนักกีฬา เพิ่มความขัดแย้งให้ประเทศมากขึ้น ดังเหตุผลต่อไปนี้

1. พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำเผด็จการที่ใช้วิธีการกำจัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ห้ามแม้กระทั่งการคุยกัน 5 คน การชู 3 นิ้ว การกินแฮมเบอร์เกอร์ ก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าผู้ใดขัดขืนจะถูกทหารควบคุมตัวและส่งฟ้องศาลทหารข้อหาขัดคำสั่ง คสช. แล้วอ้างว่าการริดรอนสิทธิประชาชนทำให้บ้านเมืองความสงบ แก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งไม่เป็นความจริง จะเห็นว่าเวลาผ่านไปเกือบห้าปีแต่พอมีประเด็นกระตุ้นที่คู่ขัดแย้งคิดว่าฝ่ายตนเองจะเพลี่ยงพล้ำก็ออกมาแสดงถ้อยคำรุนแรงว่าร้ายอีกฝ่ายทันทีโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงและแยกแยะความถูกต้อง  แสดงว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำไม่ได้ลดทอนความขัดแย้งในสังคมเลย กลับตอกลิ่มความขัดแย้งให้ห่างออกไปด้วยการให้ท้ายฝ่ายสนับสนุนที่สร้างความวุ่นวายของบ้านเมืองขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 เพื่อให้พลเอกประยุทธ์เข้ามาสู่อำนาจ และกำจัดสิทธิฝ่ายคิดต่าง วิธีการของพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม การแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องใช้การเจรจาพูดคุยให้ตกผลึกแบบ ”นโยบายทลายกำแพงใจของพรรคเพื่อชาติ” ที่ทุกคนต่างแสดงความคิดเห็นจนยอมรับข้อดีของคู่ขัดแย้งและข้อผิดพลาดของตนเองจนความขัดแย้งหมดไป ซึ่งเป็นวิธีการสากลที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถขจัดความขัดแย้งได้

2. บุคลิคภาพและลักษณะนิสัยพลเอกประยุทธ์จากการชี้หน้าผู้สื่อข่าว  ขว้างเปลือกกล้วยใส่ศีรษะผู้สื่อข่าว กล่าวถึงเหยื่อชาวต่างชาติที่ถูกข่มขืนเสียชีวิตว่าเป็นเพราะการแต่งตัวของเหยื่อ การออกกฎการแต่งกายของสตรีในเทศกาลสงกรานต์ จะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์เป็นคนก้าวร้าว เหยียดเพศ ดูถูกสตรี มีความเป็นเผด็จการสูงไม่รับฟังความเห็นคนคิดต่าง ดูถูกคนคิดต่าง และเป็นผู้ที่ระงับอารมณ์ตนเองไม่ได้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำประเทศ

3. พลเอกประยุทธ์กล้าตัดสินใจในเรื่องที่คนอื่นไม่กล้าทำเพราะมีกฏหมายนิรโทษกรรมตัวเองทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ซึ่งคนที่มีจริยธรรมและมีความละอายจะไม่กล้าเขียนกฏหมายเช่นนี้ไว้ปกป้องการกระทำของตนเอง อีกทั้งบางการตัดสินใจนำมาซึ่งความเสียหายของประเทศเช่น กรณีเหมืองทอง ที่ประเทศไทยถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอยู่ในชั้นศาล

4. ผลงานตลอด 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำดัชนีขี้วัดประเทศร่วงลงทุกด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความโปร่งใสทางกระบวนการยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตย คุณภาพการศึกษา คุณภาพอากาศของประเทศ ตามที่ตนเคยให้ข่าวมาแล้ว

5. พลเอกประยุทธ์ตัองการสืบทอดและเสพติดอำนาจ ทั้งที่การบริหารประเทศที่ผ่านมาทำให้ประชาชนฐานรากทั้งประเทศลำบากยากแค้นแสนสาหัส ถ้าพลเอกประยุทธ์เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติจริง ซึ่ง “ชาติ” คือ “ประชาชน” เมื่อบริหารประเทศมา 4 ปี ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงชีพ เห็นจากสถิติปริมาณคนจนที่มีรายได้ 2,920 บาท/คน/เดือนที่พุ่งพรวดกว่า 20 % ในปี 2558 – 2559 มีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน (เกือบ 1 ล้านคน) ช่วงเวลา 30 ปี ภาวการณ์ที่ความยากจนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2541-2543 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน ครั้งที่สองในปี 2551 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน และครั้งที่สามก็คือวิกฤตการบริหารงานของคสช. ครั้งนี้ คนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยบริหารงานผิดพลาดจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดนี้โดนตรวจสอบไปเป็นฝ่ายค้านแล้ว แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชนทำให้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้ความยากลำบาก แต่ไม่รู้สาเหตุ ถ้าพลเอกประยุทธ์ต้องพิจารณาว่าการที่แก้ปัญหาให้ประชาชนไม่สำเร็จควรจะวางมือให้โอกาสผู้อื่น ไม่ใช่สร้างกฏกติกาในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบคู่แข่งอื่นเพื่อสืบทอดอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งเช่นนี้

6. พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนพึ่งพาไม่ได้ ไม่มีวิสัยทัศน์คิดแก้ไขปัญหา ไม่รับฟังปัญหาจากประชาชน อย่างกรณีที่พลเอกประยุทธ์ไปเดินตลาดเพื่อหาเสียง ถ้ามีพ่อค้าแม่ค้าบอกว่า “ขายของไม่ได้” พลเอกประยุทธ์จะโต้กลับทันทีว่า “เป็นเรื่องของผมเหรอ” เป็นคำตอบที่ปัดปัญหาให้พ้นตัว แล้วก็บอกให้ไปขายออนไลน์ไป กระทั่งแม่ค้าข้าวแกงก็ได้รับคำตอบเช่นนี้ ซึ่งเป็นคำตอบที่แสดงว่าพลเอกประยุทธ์ไม่เข้าใจการตลาดดิจิตอล และการตลาดพื้นฐานเรื่องกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเลย การไม่มีความสามารถในการหารายได้ทำให้บริหารงานผิดพลาดจนเกิดวิกฤตเศรษกิจ คสช.

7. พลเอกประยุทธ์เป็นผู้ที่คับแคบ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องดังเห็นได้จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทำไว้เพื่อกีดกันรัฐบาลใดๆ ที่เข้ามาใหม่เพื่อให้ทำตามความต้องการของ คสช. และคณะ กรณีที่พลเอกประยุทธ์พลาดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นการขัดขวางการพัฒนาและปิดโอกาสคนรุ่นใหม่แบบพวกตน และกลุ่ม First voters อย่างกลุ่ม. #ฟ้ารักพ่อ เพราะโลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงทุกวินาที แล้วกลุ่มตนคือประชาชนที่ต้องเป็นส่วนหนึงที่จะต้องปรับตัวเป็นพลเมืองดิจิตอล ตนและคนรุ่นใหม่ขอเลือกกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศเอง เพราะผู้ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีบางคนอาจจะมีชีวิตอยู่ไม่ถึง 20 ปี ตนขอร้องอย่าสร้างบาปให้ลูกหลานไทย ด้วยการถ่วงรั้งความเจริญเพื่อเห็นแก่ความต้องการอยู่ในอำนาจของตนเอง

8. การที่พลเอกประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศได้สร้างค่านิยมเผด็จการปลูกฝังให้สังคมไทย คือ ไม่สามารถฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ทำให้ก้าวร้าวและระงับอารมณ์ไม่ได้เมื่อได้ยินคำถามที่แสดงความคิดเห็นแตกต่าง ค่านิยมในการไม่รักษาคำพูด อย่างเช่นการรับปากว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่เลื่อนมาถึง 5 ครั้ง รวมทั้งการประดิษฐ์วาทกรรมว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ซึ่งใช้เวลามาเกือบ 5 ปียังไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ค่านิยมเห็นแก่ตน และ ค่านิยมไม่มีน้ำใจนักกีฬา ที่ต้องสร้างกฏกติกาที่เอาเปรียบเพื่อสืบทอดอำนาจเสร็จก่อนจึงจัดให้มีการเลือกตั้งแบบไม่เต็มใจนัก ค่านิยมยกตนข่มท่านจากการที่พลเอกประยุทธ์พูดเสมอว่า “มีรัฐบาลไหนทำงานเยอะเท่านี้ไหม” และค่านิยมปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ คือการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ฝ่ายตรงข้าม ถ้าเกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้นมาจะได้ยินพลเอกประยุทธ์พูดเสมอว่าเป็นความผิดรัฐบาลเก่า

matemnews.com 

11 กุมภาพันธ์ 2562