Home ข่าวทั่วไปรอบวัน “พิชัย” เรียกร้องการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับประเทศ เสนอ ช่วยเหลือคนจนตามสัดส่วนของจีดีพี ฝาก ย้ำ เสรีภาพในการวิจารณ์เศรษฐกิจ ห่วง พรรคเดียวหลายเบอร์สร้างปัญหาหนัก

“พิชัย” เรียกร้องการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับประเทศ เสนอ ช่วยเหลือคนจนตามสัดส่วนของจีดีพี ฝาก ย้ำ เสรีภาพในการวิจารณ์เศรษฐกิจ ห่วง พรรคเดียวหลายเบอร์สร้างปัญหาหนัก

626
0
SHARE

 

 

 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย  กล่าวใน  งานสัมมนาบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จัดโดย  ญาติวีรชนพฤษา 35 ว่า อยากเห็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับประเทศในทุกทาง  ไม่ใช่พอประเทศไม่อยู่ในระบอบที่ประชาคมโลกยอมรับ  กลายเป็นว่าบรรทัดฐานและแนวทางของประเทศต้องย่ำแย่ไปด้วย  เช่นทางด้านเศรษฐกิจหากจะตัดสินว่ารัฐบาลใช้เงินตามนโยบายที่ช่วยคนมีรายได้น้อยแล้วผิด  จะมีบรรทัดฐานแนวทางอย่างไรที่ถูก หากบอกว่าใช้เงินจำนำข้าวขาดทุน 5 แสนล้านบาทผิด แล้วที่บอกว่าใช้ 900,000 ล้านบาทแต่เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นเป็นความผิดหรือไม่   ขอรายละเอียดการใช้จ่ายก็ยังไม่ตอบ  ฝาก สตง. ช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบด้วย    ซึ่งหากมีเรื่องทุจริตก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกันหรือไม่ ในอนาคตจะมีแนวทางอย่างไรจะช่วยคนยากจนและคนด้อยโอกาสได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี

 

การที่จะให้องค์กรอิสระเช่น  สตง. กกต. กรรมการยุทธศาสตร์ 20 ปี ฯลฯ  มากำหนดว่านโยบายใดทำได้ทำไม่ได้ ต้องถามว่าคนเหล่านี้มีความรู้ความสามารถขนาดไหน และสมควรหรือไม่ ทั้งนี้ การกำหนดบรรทัดฐานของการทำงานขององค์กรอิสระก็ควรชัดเจนและไม่สับสน เข่น การทำงานของ สตง. ในปัจจุบัน โดยเห็นว่า ความเหมาะสมควรจะกำหนดการช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาสเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเลยหรือไม่ แล้วให้รัฐบาลในขณะนั้นไปดำเนินการเองแล้ววัดผล เป็นต้น

 

อีกทั้งเรื่องบรรทัดฐานในการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจของประเทศ ควรจะทำได้อย่างกว้างขวางและเสรี   เพราะจะทำให้ประชาชนได้ทราบความจริงครบทุกด้านในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ  ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วต้องส่งเสริมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจกันมากๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่   ประชาชนกำลังลำบากอย่างมาก อย่างเช่น  ข้อมูลของ  คุณบรรยง พงษ์พานิช ที่บอกว่า หากเศรษฐกิจไทยโตได้แค่ 3% กว่าที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพอใจและคิดว่าดีนี้ ประเทศไทยจะตกจากเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียน ไปอยู่อันดับ 5 ในอีก 7 ปี โดยถูก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม แซง   และจะมีสัดส่วน เหลือเพียง 7% จาก 20% ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อถูกแซงแล้วก็จะถูกทิ้งห่างตามไม่ทันแล้ว ซึ่งจะถือว่าเป็น “กบต้ม” หรือไม่ แล้วจะแก้ไขอย่างไรเป็นต้น  โดยหากมีสิ่งใดไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนก็ควรให้ผู้รับผิดชอบทางเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมาชี้แจงว่าที่ถูกคืออะไร  ไม่ใช่เอาคนไม่มีความรู้ทางเศรษฐกิจมาแจ้งความว่าบิดเบือนแต่บอกไม่ได้ว่าบิดเบือนอย่างไร  ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้รับผิดชอบทางเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งตกต่ำลง   เพราะถูกมองว่าไม่มีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและขวัญอ่อน    รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

 

นอกจากนี้บรรทัดฐานทางการเมืองก็ยังสับสน แนวทางประเทศควรจะส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ไม่ใช่ ตัวบุคคลเข้มแข็ง ซึ่งเป็นหลักการของทั่วโลก แต่ กรธ. กลับพยายามบอกว่าต้องการจะทำให้ตัวบุคคลเข้มแข็ง โดยจะสร้างความสับสนเมื่อให้ผู้สมัครของพรรคในแต่ละเขตมีเบอร์ต่างกัน   ซึ่งจะทำให้ยากต่อการหาเสียงแล้ว   ยังจะสร้างความลำบากในการจัดทำบัตรเลือกตั้ง   เพราะต้องทำบัตรเลือกตั้งเฉพาะในแต่ละเขต   อีกทั้งจะสร้างความสับสนในการนับคะแนนซึ่งจะสร้างปัญหาการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์อีกด้วย   หากมีปัญหาเกิดขึ้น กรธ. จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ขนาด กกต. ชุดปัจจุบันยังบอกว่าจะสร้างความยุ่งยากมากและโชคดีที่ถูกปลดก่อน    ไม่อยากให้คิดว่าเพียงต้องการทำให้พรรคใหญ่อ่อนแอเพื่อต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก   ถึงจะทำทุกอย่างแม้จะสร้างความสับสนก็ยอมได้

 

จึงอยากให้คิดให้ดี ตลอด 10 ปี ที่ประเทศที่ประเทศมีปัญหามาถึงจุดนี้ได้ และเศรษฐกิจโตต่ำเฉลี่ยเพียง 3.2 % ต่อปีเท่านั้น ซึ่งโตต่ำสุดในประเทศรายได้ปานกลางระดับเดียวกัน   ก็เพราะแนวคิดเพียงเพื่อต้องการทำลายพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาตลอดใช่หรือไม่   หากยังพยายามจะไม่เคารพเสียงของประชาชน ปัญหาก็ยังคงจะเป็นเหมือนเดิม โดยจึงอยากเห็นประเทศมีแนวทางและบรรทัดฐานที่ถูกต้องในทุกทาง   ปราศจากตรรกวิบัติ เพื่อจะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต ไม่ใช่มีแนวทางที่สับสนเหมือนในปัจจุบัน

 

Matemnews.com  19 สิงหาคม 2560