“พิชัย นริพทะพันธุ์” เตือน เศรษฐกิจปลายปีที่แล้วทรุดจะส่งผลถึงปีนี้ ชี้ หากไม่เปลี่ยนรัฐบาลเศรษฐกิจจะยิ่งทรุดหนัก แนะ แบงค์ชาติเร่งแก้ไขค่าบาทแข็ง อย่าเพียงแก้ตัวเพราะจะหมดความน่าเชื่อถือ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน แถลงแก่ผู้สื่อข่าว 18 ก.พ.2562 ว่า เศรษฐกิจในปลายปี 2561 ทรุดอีก ไตรมาสที่สี่ขยายตัวได้เพียง 3.7% เท่านั้น ทำให้ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ทั้งปีโตได้เพียง 4.1 % เท่านั้น ทั้งๆที่ครึ่งปีแรกโตได้ถึง 4.8% ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าที่เศรษฐกิจของไทยขยายตัวดีในต้นปีที่แล้วเกิดจากอานิสงส์ของเศรษฐกิจโลก ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือการบริหารของรัฐบาลแต่อย่างใดเลย แถมรัฐบาลยังคุยว่าปี 2561 จะขยายตัวได้ถึง 5 % แต่พอครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกลับทรุดหนักเหลือแค่ 3% กว่า จากการส่งออกที่ขยายตัวลดลง ขนาดติดลบถึง 3 เดือนใน 6 เดือนหลัง และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากการบริหารราชการที่ผิดพลาด และ หากหลังการเลือกตั้งยังได้รัฐบาลเดิม เศรษฐกิจจะไม่ดีขึ้น และ จะยิ่งทรุดหนัก พิสูจน์ได้จากผลงานการบริหารเศรษฐกิจใน 5 ปีที่ผ่านมา และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่น่าจะลดลงเรื่อยๆจนแทบไม่เหลือ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่ถึง 4% ในปี 2562 นี้ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะไม่ดีนัก ขนาดนักวิชาการชื่อดังยังเตือนว่าสหรัฐอเมริกาอาจเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนที่จะขยายตัวต่ำสุดในรอง 30 ปีด้วย ดังนั้นหากประชาชนส่วนใหญ่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจ จึงอยากให้พิจารณาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ดี เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ประชาชนจะได้ไม่ลำบากกันอีก ทั้งนี้ อยากให้แบงค์ชาติได้เร่งแก้ไขค่าเงินบาทอย่าให้แข็งค่ามากเกินไป เพราะค่าเงินบาทได้แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบมายังการส่งออก และ การท่องเที่ยวแล้ว ไม่อยากให้แก้ตัวว่าไม่ได้เกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยของแบงค์ชาติ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหากดูย้อนหลังจะพบว่าหลังจากที่ แบงค์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆที่ได้เตือนแล้ว เงินบาทก็แข็งค่ามาโดยตลอด และเป็นหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่ระบุชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน ถ้าผู้ว่าฯ แบงค์ชาติให้ข้อมูลผิดๆ จะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ และจะทำให้หมดความน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆที่ภาวะเงินเฟ้อต่ำมาก และยังไม่มีเงินทุนไหลออก ยิ่งไปซ้ำเติมทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก และทำให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น อีกทั้งยังจะทำให้การลงทุนที่น้อยอยู่แล้วลดลงไปอีก
matemnews.com
18 กุมภาพันธ์ 2562