กระทรวงสาธารณสุข เผยพระสงฆ์ไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) 3 อันดับสูงสุด คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน เชิญชวนประชาชนชาวพุทธเลือกเมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับถวายพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม ลดอ้วน ลดพุง ลดโรค
กระทรวงสาธารณสุข เผยพระสงฆ์ไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) 3 อันดับสูงสุด คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน เชิญชวนประชาชนชาวพุทธเลือกเมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับถวายพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม ลดอ้วน ลดพุง ลดโรค
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาเป็นวันมาฆบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนนิยมไปวัดทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนประชาชนใส่ใจเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพถวายพระสงฆ์ เนื่องจากผลการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ จำนวน 28,891 รูป ในโครงการ “1 วัด 1 โรงพยาบาล” เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 พบว่า มีพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 15.2 โรคไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 14.6 และโรคเบาหวาน ร้อยละ10.8 สาเหตุการเกิดโรคส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาต หรือประชาชนนำมาถวาย ซึ่งมีรสหวาน มัน เค็มเกินไป ส่งผลให้พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น
“ด้วยในวันมาฆบูชานี้ เชิญชวนประชาชนเริ่มต้นในการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพถวายพระสงฆ์ เช่น ข้าวกล้อง, ข้าวซ้อมมือ, เนื้อไม่ติดมัน, ปลา, ฝรั่ง, ส้ม, แอปเปิ้ล, มะละกอ และเครื่องดื่มน้ำตาลน้อยหรือน้ำดื่มสะอาด เป็นต้น เพียงเท่านี้ถือว่าเป็นการสร้างบุญอีกทางหนึ่ง” นายแพทย์สุขุม กล่าว
สำหรับ ตัวอย่างเมนูอาหารเพื่อสุขภาพถวายพระสงฆ์ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัยได้แนะนำไว้ 5 เมนู คือ เมนูที่ 1 ข้าวกล้อง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด เมนูที่ 2 น้ำพริกอ่อง มีส่วนประกอบของมะเขือเทศช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยบำรุงสายตา เมนูที่ 3 แกงส้มมะรุม ฝักมะรุมช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือดและป้องกันโรคมะเร็ง เมนูที่ 4 ถั่วเขียวต้มน้ำขิง ช่วยขับสารพิษในตับ และขับลมในกระเพาะอาหาร เมนูที่ 5 ผลไม้สด ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ และควรเลือกถวายน้ำดื่มที่ได้รับมาตรฐานมีเครื่องหมายการรับรองคุณภาพจาก อย. และ มอก.
ทั้งนี้ โครงการ “1 วัด 1 โรงพยาบาล” ได้ขยายครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยในปี 2562 ตั้งเป้าขยายไปยังโรงพยาบาล–วัด 16,660 แห่งทั่วประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ช่วยสนับสนุนให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง และส่งต่อรักษาไปยังโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม
*17 กุมภาพันธ์ 2562
เว็บไซต์รัฐบาลไทย เผยแพร่
matemnews.com
18 กุมภาพันธ์ 2562