Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ประเทศไทยจะใช้กฎหมายตัดแต้มทำผิดกฎจราจรแล้วนะ

ประเทศไทยจะใช้กฎหมายตัดแต้มทำผิดกฎจราจรแล้วนะ

372
0
SHARE

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมที่อาคารรัฐสภา เช้าวันที่ 22 ก.พ.2562 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่….) พ.ศ….แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสั่ง  สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน  หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ที่กำหนดให้ใช้การบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับขี่  รองรับการใช้ใบขับขี่แบบอิเล็กทรอนิกส์  รวมถึงกำหนดมาตรการที่เกี่ยวกับการดูแลและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกให้มีประสิทธิภาพ  สมาชิกหลายคนอภิปรายถาม  หลักเกณฑ์และข้อกำหนดในประเด็นการตัดคะแนนความประพฤติของบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎจราจร   การเพิ่มบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับการใช้รถ หรือยินยอมให้ผู้ขับขี่ขับรถได้   กังวลว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่  กรรมาธิการฯ อภิปรายชี้แจงว่า  หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องออกข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการตัดคะแนนผู้ขับขี่   เบื้องต้นให้ผู้ขับขี่มีคะแนน 12 คะแนน  การตัดคะแนน เช่น  การฝ่าไฟแดง ตัด 1 คะแนน   การไม่หลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ตัด 3 คะแนน  เมื่อคะแนนถูกตัดจนหมดจะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่   หากอยากได้แต้มคืนจะต้องเข้ารับการอบรมโดยต้องมีค่าใช้จ่าย  ก่อนที่สตช.จะออกข้อกำหนดต่างๆ จะจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนด้วย   การระงับการใช้รถ หรือยินยอมให้ผู้ขับขี่ขับรถได้   เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์  เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดใบอนุญาตให้ขับขี่ได้  ดังนั้นในกรณีที่พบผู้ขับขี่มีอาการมึนเมา  มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายกับผู้ใช้ทางหรือประชาชน  กฎหมายให้สิทธิเจ้าหน้าที่ระงับการใช้รถบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงนั้นไส้เป็นการชั่วคราว  เมื่อเห็นว่าพ้นจากภาวะที่จะก่ออันตราย เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถปล่อยให้ขับรถต่อไปได้

เมื่อมาพิจารณามาถึงประเด็นที่  นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย   สงวนความเห็นในมาตรา 160 จัตวา ให้นิติบุคคลที่เป็นผู้ให้เช่ารถ ชำระโทษปรับ หรือรับโทษแทนผู้เช่ารถที่ฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎจราจร กรณีที่ผู้เช่ารถไม่ชำระค่าปรับหรือรับโทษตามกฎหมาย  กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยืนกราน ไม่สามารถเพิ่มเนื้อหานี้ได้ เพราะขัดกับหลักการ  ตามกฎหมายไม่สามารถบังคับให้ผู้อื่นชำระโทษปรับหรือรับโทษแทนบุคคลที่กระทำผิดได้  แล้วเกิดการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างหนัก  นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 ผู้ทำหน้าที่ประธานประชุมในขณะนั้น สั่งพักการประชุม 15 นาที  แต่นานถึง 2 ชั่วโมงจึงประชุมได้อีกรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้เป็นให้นิติบุคคลผู้ให้เช่ารถ  แจ้งชื่อ ที่อยู่ พร้อมหลักฐานอื่นต่อพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่ขับขี่ในขณะที่กระทำผิดภายใน 30 วัน หากไม่แจ้งนิติบุคคลนั้นมีโทษปรับ 5 เท่าของโทษปรับสูงสุด   และมีการเพิ่มเติมกรณีผู้กระทำผิดกฎจราจรเป็นชาวต่างชาติ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  หรือวิธีอื่นตามสมควร  เมื่ออภิปรายเป็นที่พอใจแล้วลงมติ  เห็นชอบ 138 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

matemnews.com 

22 กุมภาพันธ์ 2562