Home ข่าวทั่วไปรอบวัน เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.7 %

เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.7 %

730
0
SHARE

 

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 21 ส.ค.2560 ว่า ไตรมาส 2/2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงถึง 3.7% สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับจากปี 2556 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก การท่องเที่ยว และบริการ รวมทั้งการลงทุนเอกชนเริ่มฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัว 3.5%

ในขณะที่การส่งออกไตรมาส 2/2560 ที่ผ่านมามีมูลค่า 56,145 ล้านดอลลาร ขยายตัว 8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ 6.8% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 49,523 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.8% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 15.9%

ทางด้านดุลการค้าไตรมาส 2 เกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 8.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.1% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ 1.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% จากไตรมาสก่อนที่ 0.7% ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,185.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 40.7% ของจีดีพี

ทั้งนี้ ทาง สภาพัฒน์ฯ ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0% จากเดิมคาด 3.3-3.8% โดยมีค่ากลางที่ 3.7% จากเดิมที่ 3.5% ขณะที่การส่งออกปรับเพิ่มเป็น 5.7% จากเดิมที่ 3.6% ด้านการนำเข้าปี 2560 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10.7% จากเดิมคาด 7% ส่วนดุลการค้าคาดเกินดุลอยู่ที่ 28.9 พันล้านดอลลาร์ จากดิมคาดเกินดุล 31 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2560 คาดเกินดุล 42.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาด 38.8 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.4-0.9% จากเดิมคาด 0.8-1.3%

โดยการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 2 ขยายตัว 3.2% จากไตรมาสแรกที่ติดลบ 1.1% ด้านทั้งปีคาดขยายตัว 2.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐติดลบ 7% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 9.7% ส่วนทั้งปีคาดขยายตัว 8% ด้านการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ขยายตัว 3% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาครัฐอยู่ที่2.7% จากไตรมาสแรกที่ 0.3% ด้านทั้งปีคาด 3.2%

ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทปี 2560 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่คาดการณ์ 35-36% และมองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกโดยภาพรวม ส่วนแต่ละอุตสาหกรรมจะรองรับค่าเงินบาทได้ที่ระดับใดนั้น คงไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละอุตสาหกรรม โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังแรงกดดันของค่าเงินบาทยังมีต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐ เป็นต้น ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบยังคงประมาณการไว้ที่ 47-57 ดอลลาร์ต่อบาเรล

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังไม่เป็นอันตรายของการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้นคงมีความแตกต่างกันในการรองรับความเสี่ยง” นายปรเมธี กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560 นี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากมองว่า สถานการณ์น้ำท่วมอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตด้านการเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด การเบิกจ่ายงบประมาณ การสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก โดยการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อและการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สำคัญๆของรัฐบาล

และนอกจากนี้ ยังต้องติดตาม การดำเนินการตามโครงการแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การดูแลรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้เกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการดำเนินการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

ในขณะเดียวกันยังต้องเดินหน้าการสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การแก้ไขปัญหาความแออันและการอำนวยความสะดวกของด่านตรวจคนเข้าเมือง การส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล การท่องเที่ยวในประเทศควบคู่กับการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท

 

Matemnews.com  21 สิงหาคม 2560