สำนักข่าวอิศรานิวส์ เผยแพร่ https://goo.gl/r7Kh56
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน และกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเสนอศาลปกครอง วินิจฉัยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นข้อวิจารณ์ และถกเถียงอย่างกว้างขวาง จึงสมควรได้รับการตีความให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบคำสั่ง หรือการกระทำของนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่รับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐชอบด้วยกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลปกครองวินิจฉัยแล้วพบว่า มีข้อจำกัด อยากขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลปกครองส่งข้อพิพาทดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป โดยรายละเอียดในหนังสือความว่า
วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2562
เรื่อง ขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560มาตรา 230 ประกอบมาตรา 231 (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560มาตรา 22 ประกอบมาตรา 23(2) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) หรือไม่และอื่นๆ
เรียน ประธานและกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน
ตามที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2562 ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา88 และมาตรา 89 ในการใช้สิทธิเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนนายกรัฐมนตรี ภายหลังการจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562
หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ.2562 แล้วนั้น ปรากฎว่ามีข้อถกเถียงกันอย่างมากมายในสังคมไทยว่านอกจากพล.อ.ประยุทธ์ จะมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ให้การยกเว้นไว้แล้วนั้น แต่สำหรับตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ หน.คสช. ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่อย่างไร
ซึ่งข้อถกเกียงกันทั้ง 2 ฝ่ายที่ต่างเห็นด้วยและเห็นคัดค้าน กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ หน.คสช. ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่ ดังนี้
ฝ่ายที่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีประเด็นสรุปพอสังเขป ดังนี้
-กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 14 ที่ว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ก็เคยวินิจฉัยอธิบายคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่ได้รับยกเว้นไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(12) และการที่เป็นหัวหน้า คสช. ก็มิใช่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความหมายของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่า คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”นั้น จะต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวเดียวกับคำว่า “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น” และ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”ตามรัฐธรรมนูญนี้ “จะต้องมีต้องมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ” แต่ตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นตำแหน่งที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราวไม่ได้ปฏิบัติงานประจำ รวมทั้งยังมีอำนาจในตัวเองตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย “ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ”แต่อย่างใดอีกทั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” ซึ่งเป็นการยืนยันว่า คสช.ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวดังกล่าวดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงมิใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามความหมายหรือตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 และมาตรา 98(15) ข้างต้นการที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย หรือ บุคคลใด ที่ได้กล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ในการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ มาตรา 89
ฝ่ายที่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีประเด็นสรุปพอสังเขป ดังนี้
-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และเป็นบุคคลต้องห้ามเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ย่อมรู้ดีว่าตัวเองขาดคุณสมบัติในการที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในเรื่องนี้จากข้อเท็จจริง ตลอดระยะเวลาเกือบ 5ปี ที่ผ่านมา ทุกคนทราบดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจใช้มาตรา 44แต่เพียงผู้เดียวที่ใช้อำนาจเหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานราชการทั้งหมด รวมถึงอำนาจหน้าที่สามารถให้คุณและให้โทษทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในบ้านเมืองในประเทศไทยได้ ประเด็นนี้น่าจะเพียงพอ แทบจะไม่ต้องตีความแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังยินยอมที่จะให้เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ปัญหาที่ตามมาก็ตกอยู่ในมือขององค์กรทางกฎหมาย อาทิเช่น กกต. และนักกฎหมายในรัฐบาลชุดนี้ ที่จะต้องใช้กฎหมายและข้อเท็จจริงที่อยู่มาพิจารณาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าบรรดาองค์กรและบุคคลเหล่านี้ กลับตีความและให้ความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าหน้าของรัฐสามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยชอบ ซึ่งหลายองค์กรเห็นว่า การตีความและเสนอความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ฯ ไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องที่ผิดปกติขัดกับหลักการและข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และที่สำคัญกว่านั้น คือขัดต่อความรู้สึกของประชาชนโดยรวมอย่างสิ้นเชิง ปัญหาที่จะตามมาอย่างใหญ่หลวงคือ ต่อไปนี้ประชาชนจะไม่เชื่อมั่นในองค์กรที่ใช้กระบวนการยุติธรรม ที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินในเรื่องสำคัญของประเทศอีกต่อไปโดยในเรื่องนี้จะถูกมองว่า ความเห็นที่ตีความเหล่านั้นที่ออกมาไม่เที่ยงธรรมและไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนที่ใช้กฎหมายต้องไม่ผิดวัตถุประสงค์และเจตนาไม่สุจริต หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว กฎหมายเหล่านั้นก็จะเสื่อมและจะกลับมาเป็นความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงและไม่มีทางแก้ไขได้ จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ปรากฏมาแล้วว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “คือเจ้าหน้าที่รัฐขาดคุณสมบัติ” ไม่สมควรถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้
ปัญหาดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 ได้วินิจฉัยคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ต้องมีลักษณะดังนี้ คือ
(1) ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
(2) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
(3) อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับของรัฐ และ
(4) มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
แต่เมื่อพิจารณาคำจำกัดความตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ให้คำนิยามคำว่า”เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า
(1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างคณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง
(2) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎคำสั่ง หรือมติใดๆที่มีผลกระทบต่อบุคคลและ
(3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (1) หรือ (2)
แต่เนื่องจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557(เอกสารแนบ 1)พร้อมกับมีพระ
ราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ.2557(เอกสารแนบ 2) และมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ทำให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินหลายประการตามที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติ อาทิ มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 47 และมาตรา 48 เป็นต้น และถึงแม้จะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวแล้ว โดยมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2560 แล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องในมาตรา 265 มาตรา 279 และอื่น ๆ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเข้ารับหน้าที่
ดังนั้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ออกมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2562 และตามมาด้วยประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2562 ออกมาบังคับใช้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 88 และมาตรา 89 ในการใช้สิทธิเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนนายกรัฐมนตรี ภายหลังการจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562นั้น จึงกลายเป็นประเด็นพิพาทและหรือข้อถกเถียงกันอย่างมากว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่อย่างไร
ประเด็นพิพาทและหรือข้อถกเถียงดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติใด ๆ ได้ ก็นอกจากที่จะช่องทางที่จะสามารถทำให้ความจริงปรากฏและเป็นข้อยุติของปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การให้ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ2560มาตรา 230 ประกอบมาตรา231(2)และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน2560มาตรา 22 ประกอบมาตรา 23(2)ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง”
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในฐานะองค์กรนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการติดตาม ตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงใคร่นำความมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560มาตรา 230 ประกอบมาตรา 231(2)และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560มาตรา 22 ประกอบมาตรา 23(2)เพื่อดำเนินการ ดังนี้ …
1)เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่อย่างไร
2)คำสั่งหรือการกระทำของนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามในประกาศ เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ที่รับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ภายหลังการจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ มาตรา 89 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่
3)ข้อเสนอตาม 1) และ 2) ข้างต้นเมื่อเสนอต่อศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยแล้ว หากศาลปกครองมีข้อจำกัดอย่างใด ๆ ในการวินิจฉัย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและหรือศาลปกครอง ส่งข้อพิพาทดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลปกครองต่อไปด้วย
ท้ายนี้หากท่านได้ดำเนินการเป็นประการใด และมีผลเป็นอย่างใด ๆ แล้วกรุณาแจ้งให้สมาคมฯและสาธารณชนได้ทราบด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 41 มาตรา 51 มาตรา 59 มาตรา 63 และมาตรา 78 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
matemnews.com
6 มีนาคม 2562