Home ข่าวทั่วไปรอบวัน 3 ศาลยกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” ไม่ได้ฆ่า “อัลรูไวลี่”

3 ศาลยกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” ไม่ได้ฆ่า “อัลรูไวลี่”

478
0
SHARE

ผู้พิพากษาศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ   ออกนั่งบัลลังก์เมื่อตอนเช้าวันที่ 22 มี.ค.2562  อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา  คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย หมายเลขดำ อ.119/2553 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5

พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี

พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี

จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ

เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐาน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

คดีนี้ อัยการโจทก์นำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2553 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิม นิกายชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2532 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทยเสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.

สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯแจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้นและกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ. 2533 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯอีก 2 ครั้ง เสียชีวิตรวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม.

รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร.(ขณะนั้น)ติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้  กระทั่งระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ. 2533 ต่อเนื่องกันจำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ. ตำแหน่ง รอง สว. จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งพวกจำเลยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ โดยจำเลยกับพวกบังอาจร่วมกันลักพาตัว “นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่” นักธุรกิจชาวซาอุฯ ซึ่งเป็นพระญาติกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ เนื่องจากจำเลยหมดเข้าใจว่า นายอัลรูไวลี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย โดยจำเลยบังคับนำตัวนายอัลรูไวลี่ ไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆมีวัตถุประสงค์เพื่อซักถามข้อเท็จจริง เพื่อให้นายอัลรูไวลี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาฆ่านายอัลรูไวลี่ จนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายอัลรูไวลี่มาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา

คำฟ้องระบุด้วยว่า   จำเลยทั้งห้ายังได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อยทำร้ายร่างกายนายอัลรูไวลี่ โดยวิธีการต่าง ๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ โดยนำศพของนายอัลรูไวลี่ ไปเผาทำลายภายในไร่ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังการตายหรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกี่ยวพันกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของ นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วง ของกลางโจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289, 309, 310, 83, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 6 พ.ศ.2526 มาตรา 4 และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางคืน ให้แก่ทายาทของนายโมฮัมหมัดอัลรูไวลี่ ด้วย จำเลยทั้งห้าแถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด 

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดเนื่องจาก พยานโจทก์ยังมีข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เพราะเห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำให้นายโมฮัมหมัดถึงแก่ความตาย โจทกยื่นฎีกาขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามฟ้อง

ศาลฎีกา ตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า โจทก์มี พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก เบิกความเป็นพยานโจทก์แต่ก็ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเนื่องจาก พ.ต.ท.สุวิชชัย เองก็เป็นจำเลยในคดีอาญาอื่น  อีกทั้งไม่ได้นำตัวมาเบิกความต่อศาล จึงมีแต่เพียงคำให้การของพยานไว้เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย พิพากษายืน ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด

matemnews.com 

23 มีนาคม 2562