นักข่าวสายประจำทำเนียบรัฐบาลทุกสำนักได้สัมภาษณ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อตอนเช้าวันที่ 27 มี.ค.2562 ถามหลายเรื่องมาก
ประเด็นแรก ถามเรื่องทที่มีนักวิชาการออกมาระบุว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นนายกฯต่อ จะอยู่ไม่ครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งได้ 2 วาระ เพราะจ้องนับรวมกับการที่เป็นนายกฯมาแล้ว 5 ปี นาบยวิษณุตอบ “ตามที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2561 ก็ถือว่า ข้อถกเถียงนี้เป็นข้อยุติ เพราะไม่ใช่การนับถอยหลังไป 5 ปี และสามารถเป็นได้ 8 ปีถ้าเริ่มใหม่”
ถามประเด็น พรรคเพื่อไทยเตรียมแถลงข่าว รวมเสียงได้ 251 เสียง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องให้ใบแดง ใบเหลืองอีก ตอบ
“ ก็เป็นเรื่องของเขา ใครที่คิดว่า ตัวเองมีความพร้อมที่จะทำและช่วงชิงอะไรก็ทำไป แต่ไม่ได้มีผลจริงจังอะไร มีผลด้านจิตวิทยา และการรับรู้ของสังคมในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะสิ้นสุดและยุติไม่ได้ เพราะผลอย่างไม่เป็นทางการเพียง 95 เปอร์เซ็นต์ เพิ่งจะประกาศไป ยังมีที่เหลืออีกหลายคะแนนอยู่ และจากนี้จะต้องมีการดำเนินคดี และดำเนินการอีกหลายเรื่อง เพราะมีผู้มาร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้งหลายรายที่จะต้องมีการตรวจสอบก่อน ฉะนั้นทั้งหมดจึงยังไม่มีความแน่นอนอะไร”
ถาม ตราบใดที่ยังไม่มีการโหวตนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบ
“ ถูกต้อง ..ใช่ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะขนาดจับมือรับปาก ลงชื่อตามสัตยาบัน ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้”
ถาม สมัยก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องนำตัวนายกฯไปเก็บตัวในที่ปลอดภัย ในสมัยนี้ต้องทำแบบนั้นหรือไม่ ตอบ
“ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการเสนอชื่อนายกฯต้องไปเสนอกลางที่ประชุมสภา แล้วชื่อคนที่จะเป็นนายกฯก็มีรายชื่อปรากฏอยู่แล้ว และจะมีชื่อนอกจากที่เสนอไม่ได้ โดยเฉพาะในระยะต้น เว้นแต่โหวตไปแล้วเกิดตัน ก็ค่อยไปเลือกคนนอก ในรัฐธรรมนูญมีการกำหนดขั้นตอนไว้อยู่แล้ว ไม่เหมือนในอดีตที่จะรวมเสียงกันแล้ว จะชิงเสนอชื่อใครเป็นนายกฯก็ได้ แต่วันนี้เรารู้อยู่แล้วว่า ชื่อนายกฯมีกว่า 10 คน”
ถาม กกต.ระบุว่า จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. ฉะนั้นตามกรอบเวลาแนวโน้มจะได้รัฐบาลใหม่จะเป็นช่วงเดือน ก.ค.หรือไม่ ตอบ
“ถ้า กกต.ระบุว่า จะประกาศผลเลือกตั้งทางการวันที่ 9 พ.ค. หลังจากนั้นภายใน 3 วันก็จะมีการเสนอชื่อส.ว. ซึ่งอาจจะเสนอก่อนนั้นก็ได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 3 วัน จะไม่ใช่การประกาศ จะเป็นการเสนอชื่อเพื่อทูลเกล้าฯถวายเท่านั้น การประกาศจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งลงมา ก็ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ และหากมีการประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 9 พ.ค. ก็ต้องนับไปอีก 15 วัน ภายใน 15 วัน ส.ส.หน้าใหม่ และ ส.ว. หน้าใหม่จะต้องมารายงานตัว เมื่อรายงานตัวเรียบร้อย รัฐบาลจะต้องกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และเมื่อเสด็จเปิดการประชุมรัฐสภา โดยหลักแล้วบุคคลที่จะมาเข้าเฝ้าจะต้องเป็น ส.ส. หน้าใหม่ และส.ว.หน้าใหม่ ฉะนั้น การโปรดเกล้าฯแต่งตั้งควรจะเกิดภายใน 15 วันนี้ หลังจากนั้น 1-2 วันจะมีการเลือกประธานสภา และหลังจากนั้นจะโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภาเมื่อไหร่ผมก็ไม่ทราบ เมื่อโปรดเกล้าฯแล้วประธานสภาจะมีหน้าที่เรียกประชุมนัดแรก เพื่อให้สมาชิกปฏิญาณตน และเริ่มการโหวตเลือกนายกฯ โดยจะทำได้ช่วงปลายเดือน พ.ค. จนถึงต้นเดือนมิ.ย. และหากเลือกรอบแรกได้ ก็จะจบเร็ว แต่หากต้องเลือกรอบสองรอบสามจะเกิดขึ้นในวันนั้นหรือวันถัดไปก็ได้ จนกระทั่งได้นายกฯ จากนั้นนำกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เมื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วนายกฯต้องหา ครม. ไม่เกิน 35 คน ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า จะนานเท่าใด แต่ในช่วงเวลานี้นายกฯจะทำงานอะไรไม่ได้ ตอนนี้จะชัดเจนว่า ใครจะรวมกับใคร ในอดีตก็เคยมีมาแล้วว่า โหวตเลือกนายกฯแต่ไม่ร่วมรัฐบาล ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง การเมืองคือการต่อรอง บางคนอาจจะโหวตนายกฯให้ แต่ได้ตำแหน่งที่ไม่สบอารมณ์ อาจถอยไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้โหวตให้เป็นนายกฯ แต่ก็เข้าร่วมที่หลังก็ได้ ตรงนี้จะเป็นภาระยากของนายกฯในการจัดตั้ง ครม. เมื่อเสร็จกระบวนการหมดแล้ว ตั้ง ครม.ได้แล้ว ต้องนำความกราบบังคมทูล และเมื่อโปรดเกล้าฯลงมา ก็ต้องกราบบังคมทูลซ้ำอีกครั้งเพื่อขอพระราชทานโอกาสนำ ครม. เข้าเฝ้า เมื่อนายกฯนำ ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อใด ครม.ชุดเดิม คสช. และอำนาจตามมาตรา 44 จะสิ้นสุดลง และครม.ชุดใหม่เริ่มทำงานได้ทันที โดยจะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน”
matemnews.com
27 มีนาคม 2562