Home ข่าวทั่วไปรอบวัน จะต้องไม่มีหุ้นสื่อตั้งแต่ก่อนสมัคร ส.ส. “คำนูณ สิทธิสมาน” ชัดๆ

จะต้องไม่มีหุ้นสื่อตั้งแต่ก่อนสมัคร ส.ส. “คำนูณ สิทธิสมาน” ชัดๆ

379
0
SHARE

เฟชบุ้ค Kamnoon Sidhisamarn

หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ !

___________

เดิมที รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไว้ในมาตรา 48 หมวดสิทธิเสรีภาพ ต่อท้ายมาตราว่าด้วยคลื่นความถี่ และย้ำอีกทีไว้ในมาตรา 265 – 268 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ห้ามทั้งส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรี

หมายความว่าถ้ามีหุ้นดังกล่าวอยู่ก็ให้จัดการเสียให้เรียบร้อยก่อนเมื่อจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ไม่ใช่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนมาสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนโทษของการกระทำต้องห้ามนั้น ถ้ายังคงมีหุ้นกิจการดังกล่าวอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะโดยเหตุใด ถือเป็นเหตุที่จะทำให้ขาดจากสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 106, 119 และ 182 ทั้งนี้โดยกระบวนการที่จะไปจบที่การวินิึจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยกระดับขึ้นไปอีกในทุกมิติ

คือห้ามตั้งแต่ขั้นตอนสมัครรับเลือกตั้ง !

โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งก็ถูกโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นส.ว.และรัฐมนตรีด้วยตามมาตรา 108 และ 160

“(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

โดยพ.ร.ป.เลือกตั้งฯนำมาเขียนรับไว้ในมาตรา 42 (3)

ตรงนี้แตกต่างจากเดิมชัดเจน คือห้ามถือหุ้นฯตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเลย

ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนวันไปยื่นใบสมัคร

นอกจากนั้น โทษของการกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามประการนี้ยังไม่ใช่แค่ขาดสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น

แต่ถ้ารู้อยู่แล้วยังคงกระทำไป มีโทษหนักทั้งทางอาญาและทางการเมือง

บัญญัติอยู่ในพ.ร.ป.เลือกตั้งฯมาตรา 151

– จำคุก 1 – 10 ปี

– ปรับ 20,000 – 200,000 บาท

– เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ประเด็นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกล่าวโดยสรุปคือเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิสรารายงานว่าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีการแจ้งวันเปลี่ยนแปลงทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทวี-ลัคมีเดียอันเป็นกิจการผลิตนิตยสารที่เขากับภรรยาเคยถืออยู่จำนวนหนึ่งไปให้มารดาของเขาต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้งส.ส. 6 กุมภาพันธ์ 2562 จึงตั้งคำถามว่าจะเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

https://www.isranews.org/isranews…/74945-report00-74945.html

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ชี้แจงในวันรุ่งขึ้นโดยมีเอกสารประกอบว่าความจริงแล้วเขาขายหุ้นให้มารดาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน

คือกำลังบอกว่าโอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. แต่บริษัทแจ้งต่อนายทะเบียนฯหลังวันสมัคร

มีผู้ไปร้องเรียนต่อก.ก.ต.ให้สอบสวนเรื่องนี้

ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิสราได้เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่บริษัทวี-ลัคมีเดียแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯถึงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีนัยให้เข้าใจได้ว่าวันที่ 19 มีนาคม 2562 มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 10 คน ซึ่งน่าจะรวมธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและภรรยาด้วย

คำถามคือถ้าทั้งสองโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แล้วจะมาเข้าร่วมประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 อีกทำไม

https://www.isranews.org/isranews/75047-report00-75047.html

ล่าสุด เจ้าตัวชี้แจงว่าตนและภรรยาไม่ได้ร่วมประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ส่วนทำไมมีเอกสารแจ้งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯเช่นนั้นไม่ทราบ และเปิดประเด็นใหม่ว่าสาเหตุที่ขายหุ้นให้มารดาเพราะบริษัทกำลังจะเลิกกิจการ

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ ในกรณีสมัครรับเลือกตั้งโดยปราศจาก ‘ลักษณะต้องห้าม’ นี้จะยึดถือวันใดเป็นวันโอนหุ้นจริง

1. ยึดวันที่บริษัทฯแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ – วันที่ 21 มีนาคม 2562

หรือ…

2. ยึดถือวันที่มีการโอนกันจริงตามที่อ้าง – วันที่ 8 มกราคม 2562

มีข้อกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 1129 วรรคสาม

“มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น

“การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

“การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น”

ประเด็นตามวรรคสามนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโดยตัวบทแล้วหมายถึงการจดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นหมายถึงสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่ตั้งอยู่ ณ บริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ต้องไปแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยปกติจะไปแจ้งต่อนายทะเบียนฯปีละ 1 ครั้ง

แต่อีกฝ่ายเห็นว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นอยู่ที่บริษัท คนภายนอกจะรู้ได้อย่างไรหากไม่แจ้งต่อนายทะเบียนฯที่กระทรวงพาณิชย์ เอกสารโอนหุ้นทำกันโดยลงวันที่ใดก็ได้ คนภายนอกจะรู้ได้อย่างไรว่าโอนจริงตามวันที่ในเอกสารหรือทำขึ้นย้อนหลัง

โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่ ‘คนภายนอก’ เป็น ‘ก.ก.ต.’ ที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะสกรีนบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามออกไปจากการอาสามาเป็นผู้แทนประชาชน !

ก.ก.ต.จะรู้ได้อย่างไรว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังถือหุ้นปัญหาอยู่หรือไม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะเอกสารที่ทางราชการรับทราบการโอนหุ้นของเขาเป็นครั้งแรกคือวันที่ 21 มีนาคม 2562 ?

หากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจะได้แนบสำเนาตราสารโอนหุ้นวันที่ 8 มกราคม 2562 ต่อก.ก.ต.เสียในวันสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ก็น่าจะจบปัญหา

แต่ก็ไม่ได้ยื่น เพราะก.ก.ต.ไม่ได้กำหนดให้ยื่น โดยใช้วิธีเพียงให้ผู้สมัครทุกคนลงนามรับรองคุณสมบัติโดยรวมของตนเองไว้เท่านั้น

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 นี้ให้เทียบเคียงหลายคดี

_______________

กระบวนการสอบสวนจะเริ่มต้นจากก.ก.ต.

ถ้าก.ก.ต.เห็นว่าเข้าข่ายขัดกฎหมาย

เรื่องจะไปจบที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง

#หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร

matemnews.com 

30  มีนาคม 2562