นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันที่ 5 เม.ย.2562 ว่า ตามที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้กล่าวในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกถึงกรณี การล่ารายชื่อ ผ่านเว็บไซต์ Change.org ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ว่า
“ขอให้ปล่อยไปเถอะ เพราะผมโดนมาเยอะแล้ว และผมก็ไม่ใช่นักการเมือง และในทางกฎหมายผมก็ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้”
แล้วโฆษกและรองโฆษกกองทัพบกได้ร่วมกันแถลงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ว่า กิจกรรมของชาวโซเชียลดังกล่าวเป็นเป็นไปไม่ได้ ไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นแค่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในแง่ของความรู้สึก เป็นเพียงการปลุกกระแสที่คาดหวังว่าให้เป็นอย่างโน้น อย่างนั้น ไม่ใช่วิธีที่คนไทยควรจะเป็นนั้น
“การกล่าว และแถลงข่าวในลักษณะเช่นนั้น ส่อให้เห็นถึงการไม่รู้ หรือไม่เข้าใจบริบทของกฎหมายอย่างแท้จริงของ ผบ.ทบ.และทีมโฆษกกองทัพบก เพราะการล่ารายชื่อหรือเข้าชื่อถอดถอนนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดให้สามารถทำได้แต่เฉพาะนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำได้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน รวมทั้งตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็สามารถทำได้ เป็นสิทธิของประชาชนเต็มร้อย มีกฎหมายรองรับ ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ม.234(2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ม.28(2) และ ม.32(1) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใด กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ ประชาชนสามารถร้องเรียนเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนหรือไต่สวนได้ เพื่อนำไปสู่การเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการของหน่วยงานรัฐ นั่นก็คือ กระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ซึ่งหมายถึง การโยกย้าย ผบ.ทบ.ออกจากตำแหน่งเสียก็ได้ ตัว ผบ.ทบ.ต้องยอมรับความจริงว่าท่านได้ใช้วาทกรรมที่อาจสร้างความไม่พอใจของประชาชนบางส่วนในสังคมมามากมายหลายต่อหลายครั้ง ทั้งๆ ที่วาทกรรมเหล่านั้น อาจไม่ใช่หน้าที่ในตำแหน่งราชการของ ผบ.ทบ. ตามที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม 2552 บัญญัติไว้แต่อย่างใด ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะล่ารายชื่อเพื่อนำไปสู่การถดถอนท่านได้”
matemnews.com
5 เมษายน 2562