Home ข่าวทั่วไปรอบวัน จับกัญชามูลนิธิขวัญข้าวสุพรรณ –อย.แถลงข่าวไม่เกี่ยว

จับกัญชามูลนิธิขวัญข้าวสุพรรณ –อย.แถลงข่าวไม่เกี่ยว

404
0
SHARE

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อเวลา 9 น.วันที่ 10 เม.ย.2562 กรณีตำรวจจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ที่ผลิตและจ่ายยาน้ำมันกัญชา จนเกิดคำถามเรื่องการเอื้อนายทุนใหญ่ ว่า

“ขอชี้แจงก่อนว่า การเข้าตรวจสอบมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ผู้เข้าตรวจสอบเป็นตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่ใช่ อย. ส่วนคำถามที่ว่า ขณะนี้อยู่ช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน มาแจ้งครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ การเข้าตรวจสอบเช่นนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะนี้ก็มีผู้รู้กฎหมายตีความออกมาหลากหลายและไม่เหมือนกัน  เรื่องนี้คงต้องให้ทางด้านเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญกฎหมายตีความ อย.คงไม่ก้าวล่วง เพราะอยู่ในช่วงของการดำเนินคดี”

นักข่าวถามว่า ตีความเรื่องการครอบครองกัญชาอย่างไร เพราะกฎหมายให้มาแจ้งครอบครองได้โดยไม่ต้องรับโทษ แต่มูลนิธิฯ ถูกจับฐานการครอบครองกัญชา ภญ.สุภัทรา ตอบ

“ เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ หากครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายออกมา จะผ่อนปรนให้ 90 วัน ในการมาแจ้งครอบครองโดยไม่ต้องรับโทษ การตีความประเด็นข้อกฎหมายการครอบครองจะมีความคิดเห็นนักกฎหมายแตกต่างกันออกไป คงต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน ซึ่งต้องว่ากันไปในแต่ละคดี  การนิรโทษกรรมจะเป็นเรื่องของการครอบครองเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีโอกาสอนุญาตผลิต ปลูก สกัดกัญชาในอนาคต เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ หรือผู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำร่วมกับรัฐ 2.ผู้ป่วย   3.กลุ่มที่ไม่เข้าข่ายในสองกลุ่มแรก ไม่ว่ามีไว้ลักษณะไหนก็มาแจ้งครอบครองได้ โดยกลุ่มนี้หากไม่สามารถแจงได้ว่า นำมาใช้รักษาเฉพาะบุคคลหรือวิจัย กัญชาของคนกลุ่มนี้จะทำเรื่องให้ตกเป็นของแผ่นดิน บุคคลกลุ่มใหญ่ที่มาแจ้งครอบครองเป็นผู้ป่วยรักษาตัวเอง ตรงนี้ไม่มีประเด็น เพราะมีไว้ รักษาตัวเอง ส่วนตอนนี้ คือ ประเด็นเรื่องของการตีความเหนือกว่าครอบครอง  ก็มีแนวคิดของนักกฎหมายหลายกลุ่ม ต้องว่าเป็นกรณีไปตามการดำเนินการของแต่ละราย  มีการกระทำไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องของมูลนิธิที่มีการแจก ตรงนี้ต้องว่ากันเป็นกรณีไป  ส่วนประเด็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เพื่อเอื้อนายทุนหรือภาคเอกชนรายใหญ่ ขอย้ำว่า ไม่มีการเอื้อนายทุนใหญ่เลย อย่างคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถขอรับอนุญาตปลูก ผลิต สกัด กัญชา ตามกฎหมายช่วง 5 ปีแรก เปิดไว้ทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐที่สอนแพทย์ รพ.รัฐ และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ต้องมาดำเนินงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเอกชน กลุ่มเกษตรกร ที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร มาร่วมกับหน่วยงานรัฐปลูกผลิตสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ จะเห็นว่าเราไม่ได้ปิดกั้นเกษตรกรไทยเลย และส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการปลูกผลิตสกัดกัญชา และที่ทำได้อีก คือ การศึกษาวิจัยที่เปิดกว้างมาก ทั้งรัฐและเอกชนที่มาขอวิจัยได้  ขณะนี้มีมายื่นศึกษาวิจัยกับ อย.จำนวนมาก เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร”

matemnews.com 

10 เมษายน 2562