เฟชบุ้ค THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล·วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2019
ด่วนที่สุด
วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒
เรื่อง การกำหนดวันเลือกตั้งที่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
เรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งข้อ ๑. กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ นั้น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงขอเรียนแก่ท่าน ดังนี้
ข้อ ๑. ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติว่า
“มาตรา๑๐๒ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ
การเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา” และ
“มาตรา๑๐๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกาและให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”
เหตุผลเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวผู้สมัครและการหาเสียงที่พอเพียง แต่ในเวลาเดียวกันมิให้เนิ่นนานเกินกว่าสมควร
สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ไม่ว่ากระบวนการเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อการแบ่งเขต และวิธีการจัดการเลือกตั้ง มิได้มีข้อบัญญัติใดเป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้ข้อบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ และถึงแม้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๘ จะบัญญัติให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว ก็เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม มิใช่เงื่อนไขที่ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร ย่อมไม่มีเหตุการณ์สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๒ หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๓ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยในฐานะเป็นผู้ถือรัฏฐาธิปัตย์ จึงเป็นผู้ใช้อำนาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงย่อมมีฐานะเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๐๓ และการกำหนดวันเลือกตั้งก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๓ คือต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ
ข้อ ๒. วันเลือกตั้งเป็นวันที่หกสิบเอ็ดนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ
เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ และบัญญัติว่า
“มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”
วันเลือกตั้งซึ่งกำหนดเป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒จึงเกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ซึ่งอาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำให้ท่านพิจารณาข้อมูลนี้โดยรอบคอบในการประกาศผลการเลือกตั้ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำเนาเรียน
ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง
นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง
นาย ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กรรมการการเลือกตั้ง
นาย ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง
นาย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง
ดร. ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง
matemnews.com
15 เมษายน 2562