“อาจารย์ยักษ์” นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 15 เม.ย.2562 ว่า ตนได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เกี่ยวกับกรณีการดำเนินคดีกับ “มูลนิธิข้าวขวัญ” สุพรรณบุรี ที่ดำเนินการปลูกปัญชา ผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ในระหว่างการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 9 เม.ย.2562 ปรากฏว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อ.ประจิน ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนมูลนิธิข้าวขวัญ เนื่องจากเป็นการผลิตยาจากกัญชาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย หากจับกุม และสั่งให้มูลนิธิข้าวขวัญหยุดผลิตน้ำมันกัญชาก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการใช้ยา หลังจากนั้น พล.อ.อ.ประจิน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แจ้วให้ทราบว่า การผลิตยาจากสารสกัดกัญชาเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ควรไปไล่จับ แต่กัญชามีทั้งคุณและโทษ จึงต้องดูแลควบคุมไม่ให้มีการนำกัญชาไปใช้เป็นยาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน รวมถึงต้องมีการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ในการนำกัญชาไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาให้ชัดเจน ส่วนความร่วมมือของภาครัฐกับมูลนิธิข้าวขวัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมหารือกันต่อไป การจับกุมครั้งนี้ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการกันเอง นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงคนไข้จำนวนมากที่ต้องการพึ่งพายาสมุนไพร ท่านสั่งการในที่ประชุม ครม.ว่า อย่าไปจับ แต่ควรให้การสนับสนุนในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา พร้อมกันนี้ต้องดูแลไม่ให้เด็กและเยาวชนนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ท่านรองนายกฯประจินได้สั่งการไปยัง ป.ป.ส.ให้หยุดจับ และได้พูดคุยกับทางกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัช รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันสนับสนุนอาจารย์เดชา ศิริภัทร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา
ทางด้าน มูลนิธิข้าวขวัญ อาจารย์เดชาได้เข้าพบและพูดจาทำความเข้าใจกับเลขาธิการ ปปส.เมื่อวันศุกร์12 เม.ย.2562 ปปช.ไม่ดำเนินคดีแล้ว และ ปปส.ให้การสนับสนุน โดยอาจารย์ นายเดชา ให้ข่าวว่า ครั้งนี้ต้องบอกว่า เราได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือนอกจาก ป.ป.ส.จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการ ไม่มีการจับกุม พร้อมแนะนำช่องทางในการแจกจ่ายยาแก่ผู้ป่วยแบบถูกกฎหมายโดยให้ดำเนินการในรูปแบบของงานวิจัย แล้ว ยังให้การสนับสนุนโครงการ โดยจะนำกัญชาของกลางที่ได้จากการจับกุมจากที่ต่างๆมาให้มูลนิธิฯใช้ในการผลิตน้ำมันกัญชา จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตยา และทำให้สามารถคัดเลือกกัญชาที่คุณภาพดีได้ ต่างจากกัญชาที่ซื้อเองซึ่งไม่สามารถเลือกคุณภาพได้ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย ตนก็ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่า จะไปยื่นขอขึ้นทะเบียนแพทย์พื้นบ้าน ที่กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ในวันที่ 17 เม.ย.2562 ป.ป.ส.แนะนำว่าให้มูลนิธิแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งในรูปแบบของโครงการวิจัย โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการรักษา หรือผลลัพธ์ได้จากการใช้น้ำมันกัญชาของผู้ป่วยมาเป็นเครื่องรับรองประสิทธิภาพ ทำให้การแจกน้ำมันกัญชาที่สรรพคุณด้านหนึ่งเป็นสารเสพติด กลายเป็นแจกจ่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายวิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) แถลงข่าวในโอกาสเดียวกัน ว่า ในวันที่ 17 เม.ย.2562 หลังจากที่นายเดชาขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา จะร่วมกันแถลงถึงแนวทางปฏิบัติของหมอพื้นบ้านเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองและผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา เพื่อให้หมอพื้นบ้านทั่วประเทศที่มีความสนใจในการใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชามีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกรอบกฎหมาย จากคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา ขณะนี้ได้นำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆอย่างรวดเร็ว
อาจารย์เดชา กล่าวว่า หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีประชุมหารือเพื่อวางแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา ระหว่างตัวแทนมูลนิธิข้าวขวัญ ,องค์กรเภสัชกรรม ,โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ,คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , มูลนิธิชีววิถี (BioThai) , มูลนิธิสุขภาพไทย และ ป.ป.ส.เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา รวมถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของตัวเองมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จึงเชื่อว่าจากความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาของไทยเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยอย่างเต็มที่
นายวิฑูรย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี แถลงด้วยว่า การประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแบ่งภารกิจกันดังนี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุม
มูลนิธิชีววิถี รับหน้าที่ประสานงานในการจัดประชุม แล้วจะเน้นในเรื่องการดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของเกษตรกร ที่เป็นผู้รวบรวมสายพันธุ์กัญชาของไทย อาทิ เมื่องานวิจัยผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชานำไปสู่การจดสิทธิบัตร เจ้าของสายพันธุ์ก็จะได้รับการคุ้มครองด้วย และเมื่อนำกัญชาสายพันธุ์ใดมาวิจัยแล้วผลการวิจัยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของบุคลหรือบริษัทผู้ผลิต
มูลนิธิสุขภาพไทย จะดูแลในเรื่องเครือข่ายหมอพื้นบ้าน จะมีการประสานงานให้บรรดาหมอพื้นบ้านเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการครอบครอง ผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาอย่างถูกต้องชัดเจน
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาสายพันธุ์ไทย รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษารวบรวมเรื้องการใช้ประโยชน์กัญชาเพื่อการแพทย์ทั้งจากงานวิจัยในต่างประเทศและจากภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะร่วมกับมูลนิธิข้าวขวัญ วิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาการจับกุมมูลนิธิขวัญข้าว ที่ผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยราชการจำเป็นต้องปรับบทบาท จากผู้ใช้อำนาจในการจำกัดและควบคุมกัญชาที่ถูกมองว่าเป็นสารเสพติดไปสู่การวิจัยพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เชื่อว่าจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม และก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมาย อันจะเป็นตัวอย่างให้รัฐเห็นถึงทิศทางการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการขับเคลื่อนในเชิงรุก ความเห็นดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับอาจารย์เดชา ที่บอกว่า ความร่วมมือของทุกหน่วยงานในครั้งนี้ จะนำไปสู่การยกระดับการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาโดยไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรมากมาย ในส่วนของข้อกฎหมายต่างๆนั้นคงต้องรอให้รัฐบาลใหม่ที่ได้จากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืนครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความสำเร็จของพลังภาคประชาชนที่ร่วมกับต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และผลประโยชน์ของประชาสังคม
นายวิฑูรย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จากปรากฎการณ์ #SaveDecha ซึ่งนำไปสู่การสั่งการของท่านนายกรัฐมนสตรี ให้ทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชานั้นถือเป็นความสำเร็จจากแรงขับเคลื่อนของภาคประชาชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้รัฐหันมาตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชน
อาจารย์เดชา กล่าวเน้นว่า ต้องยอมรับว่าสังคมโซเชียล มีพลังอย่างมาก ส่งผลให้ปรากฎการณ์ #SaveDecha กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพราะการที่มูลนิธิข้าวขวัญไม่สามารถแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อน ตรงนี้มันเป็นประเด็นที่กระทบความรู้สึกของสังคม การปกป้องเดชาคือเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของผู้ป่วย ปรากฏการณ์ #SaveDecha ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นเครื่องยืนยันว่าพลังของประชาชนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ผมว่าพลังที่สั่นสะเทือนรัฐบาลมี 2 อย่างคือ พลังภาคประชาชน ซึ่งเขาเชื่อว่า รัฐบาลอาจรู้เห็นกับการสั่งจับมูลนิธิข้าวขวัญ จึงมีปฏิกิริยาที่รุนแรง ถ้านายกฯไม่มีคำสั่งลงมาก็อาจเกิดปัญหาบานปลายได้ และพลังของ อาจารย์ยักษ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)ซึ่งเอาตำแหน่งเป็นประกันให้ผม และท่านประกาศว่าจะลาออกหากผมถูกดำเนินคดี ซึ่งหาก อาจารย์ยักษ์ลาออก คงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างมาก ท่านนายกฯจึงต้องรีบสั่งการให้ยุติเรื่องนี้ ต่อจากนี้คนไทยคงได้เห็นผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาถูกพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแค่การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ที่สำคัญผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยาได้ในราคาที่เหมาะสม ปราศจากการผูกขาดจากกลุ่มทุนที่กอบโกยผลกำไรจากความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่ยากไร้
เฟชบุ้ค BIOTHAI
“ปรากฎการณ์เซฟเดชา ความหมายไม่ใช่แค่เซฟเดชา แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับยาจากกัญชา และไม่ควรต้องไปขออนุญาตใครที่ไหน เป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คุณเจ็บป่วย เป็นมะเร็ง กำลังจะตาย ต้องการยาที่บรรเทาช่วงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตแต่กลับทำไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตก่อน เมื่อไหร่ที่ต้องขออนุญาตหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลจากผู้ให้อนุญาต จับตาดูได้เลย”
matemnews.com
15 เมษายน 2562