Home ข่าวทั่วไปรอบวัน 7 วันอันตราย กทม.เมาแล้วขับอันดับ1!

7 วันอันตราย กทม.เมาแล้วขับอันดับ1!

345
0
SHARE

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.62 นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติของวันที่ 17 เม.ย. 62 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีการควบคุมเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีจำนวนคดีทั้งสิ้น 3,693 คดี แบ่งเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 3,454 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.53 คดีขับเสพ 231 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.25 คดีขับรถประมาท 8 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.22 โดยศาลมีคำสั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในคดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 91 ราย โดยส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. เป็นเวลา 7-15 วัน คุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวจำนวน 4 ครั้ง พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง เป็นต้น ส่วนยอดสะสมกรณีที่ศาลสั่งใช้อุปกรณ์ EM ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 480 ราย แบ่งเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 478 ราย คดีขับเสพ จำนวน 2 ราย

สำหรับยอดสะสมสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 12,597 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 12,192 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.79 คดีขับเสพ 386 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.06 คดีขับรถประมาท 19 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.15 โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 727 คดี จังหวัดมหาสารคาม 714 คดี และจังหวัดนครพนม 533 คดี

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกรมคุมประพฤติจะจำแนกความเสี่ยงและคัดกรองผู้ถูกคุมความประพฤติตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุราจะส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเพื่อรับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับตามสถานพยาบาล และยังคงมีมาตรการการทำงานบริการสังคมสำหรับผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อสร้างจิตสำนึกและให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ การดูแลเหยื่อเมาแล้วขับหรือผู้ป่วยติดเตียงตามโรงพยาบาล การเป็นอาสาจราจร หรือร่วมกิจกรรมยังจุดตรวจ ด่านตรวจ เป็นต้น