น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง แถลงแก่ผู้สื่อข่าวว่า คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันอังคาร 29 ส.ค.2560 อนุมัติ “โครงการประชารัฐสวัสดิการ” การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ ผู้ลงทะเบียนคนจนไว้กับกระทรวงการคลังจำนวน 11.67 ล้านคน เพื่อนำไปลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมเงินที่รัฐต้องจ่าย 41,940 ล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ย 3,615 ล้านบาท/เดือน โดยใช้งบกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ครม.อนุมัติวงเงินไปแล้ว 50,000 ล้านบาท
แบ่งเป็น วงเงินรายเดือนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ของกระทรวงพาณิชย์
สำหรับผู้มีรายได้มากกว่า 30,000-100,000 บาท/ปี ได้รับวงเงินผ่านบัตร 200 บาท/เดือน หรือ 2,400 บาท/ปี
ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ได้รับวงเงินผ่านบัตร 300 บาท/เดือน หรือ 3,600 บาท/ปี
นอกจากนี้ยังมีวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จากร้านค้ากระทรวงพลังงาน 45 บาท/คน/3 เดือน
ช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้าจำนวน 500 บาท/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. จำนวน 500 บาท/เดือน และวงเงินค่าโดยสารรถไฟจำนวน 500 บาท/เดือน และหากใช้ไม่หมด ไม่สามารถสะสมได้
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 ผู้ที่ลงทะเบียนคนจนทั่วประเทศจะสามารถใช้บัตรคนจนได้ จากการลงทะเบียนประชาชนมาลงทะบียนคนจนจำนวนมาก มีคนถูกตัดสิทธิ 2.53 ล้านคน แต่ในจำนวน 11.67 ล้านคน ทั้งหมดคุณสมบัติตรงตามภาครัฐกำหนด
“ไม่ได้มีการตัดสิทธิด๊อกเตอร์ที่มาลงทะเบียนแต่อย่างใด เพราะคุณสมบัติตรงตามระเบียบคนจน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน”
วงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านบัตร สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ขายในร้านที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งเหล้า บุหรี่ แต่ไม่รณรงค์ให้ขาย
สำหรับผู้ที่จะสามารถใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้าฟรี ตามวงเงิน บัตรที่แจกจะเป็นบัตร 2 ชิป หรือบัตรแมงมุมจะแจกคนจนที่ลงทะเบียนไว้ในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จำนวน 1.3 ล้านคน ของจำนวน 11.67 ล้านคน
วงเงินที่รัฐบาลให้แต่ละเดือนนี้ จะให้เพียงเดือนละครั้ง ใช้จนเต็มวงเงินแล้วต้องรอเดือนใหม่ เงินจะเข้าบัญชีมาทุกวันที่ 1 ของเดือน ถ้าใช้ไม่หมดเงินจะถูกตัด สะสมไม่ได้ เช่น เดินทางโดยรถเมล์ จะใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง เดินทางได้จนเงินในบัตรหมด ที่เหลือก็ต้องจ่ายเงินเอง โดยจากการหารือกับกระทรวงคมนาคม ก็ได้รับการยืนยันว่า รถเมล์ทั้งหมดจะติดตั้งเครื่องรับบัตรให้รถเมล์จำนวน 800 คันก่อนในระยะแรก
ส่วนร้านค้าก็จะมีเครื่องรับบัตรติดตั้งด้วยเช่นกัน โดยจากนี้ไปแต่ละร้านที่คนมีรายได้น้อยจะเข้าไปใช้บัตรได้ กระทรวงพาณิชย์จะประกาศออกมา หรือมีสติ๊กเกอร์ติดที่หน้าร้าน ซึ่งการติดตั้งเครื่องจะพร้อมใช้งานได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้
การช่วยเหลือครั้งนี้ จะไม่รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า และน้ำประปา เพราะตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว จึงยังไม่นำมารวมกับบัตรที่จะแจกให้ครั้งนี้ ส่วนกรณีของผู้ที่มีรายได้น้อยจากต่างจังหวัด ใช้บัตรซื้อตั๋วรถบขส.เข้ามาในกรุงเทพฯ จะยังไม่สามารถใช้บัตรนี้กับรถเมล์ในกรุงเทพฯได้ เพราะระบบของบัตรจะไม่รองรับระบบตั๋วร่วมของกรุงเทพฯ ที่รัฐบาลกำลังทำให้ครอบคลุมรถเมล์ รถไฟฟ้า
ในกรณีที่เงินในบัตรหมด หากใครต้องการเติมเงินก็สามารถทำได้ ซึ่งตอนนี้กำลังดูรายละเอียดก่อน และหากใครทำบัตรหาย หากมาทำใหม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมทำบัตร สำหรับบัตรที่มี 1 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 50 บาท และบัตรที่มี 2 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท
matemnews.com 30 สิงหาคม 2560