พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประธานแถลงข่าว “เปิดศูนย์สื่อมวลชนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพ.ศ. 2562” ตั้งอยู่ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อตอนบ่ายวันที่ 26 เม.ย.2562 มีหลายฝ่ายร่วมปฏิบัติในศูนย์นี้ ประกอบด้วย
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษกตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร
นส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
พ.ต.อ.หญิงวนิดา หาญบุญเศรษฐ์ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
พล.อ.ฉัตรชัย แถลงว่า การจัดตั้งศูนย์สื่อมวลชนครั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ อยากเห็นงานพระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่งและถือเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งทางสื่อมวลชนไทยและสื่อต่างประเทศ ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารและภาพประวัติศาสตร์เผยแพร่ไปทั่วโลก คณะกรรมการฯจึงจัดตั้งศูนย์สื่อมวลชนนี้ขึ้น ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.-6 พ.ค.2562 เวลา 08.30-16.30 น.
ในวันที่ 5 พ.ค. จะเปิดถึงเวลา 23.00 น.เพื่อให้สื่อมวลชนได้เข้ามาใช้บริการศูนย์สื่อมวลชนแห่งนี้
ศูนย์ถ่ายทอดของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ จะตั้งที่กรมประชาสัมพันธ์ จะเปิดในวันที่ 28 เม.ย.นี้เช่นกัน
ก็ขอความร่วมมือสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อความ ภาพ และเสียง งานพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งของประเทศด้วยความสง่างามสมพระเกียรติ เพื่อให้งานพระราชพิธีสำคัญนี้สมบูรณ์แบบที่สุด และศูนย์แห่งนี้ยังให้บริการข้อมูลข่าวสารต่างๆงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผ่านทาง www.phralan.in.th , www.facebook.com/พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และ Line@บรมราชาภิเษก
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ขณะนี้การเตรียมการดูแลความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ให้กับพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางมาเฝ้ารับเสด็จฯตลอดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.-6 พ.ค. โดยหลักการทำงานจะยึดประชาชนทุกคนถือเป็นแขกของพระองค์ท่าน พี่น้องชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาภายในงานพระราชพิธีจะได้รับการดูอย่างดีด้วยความอบอุ่นจากทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง
มาตรการในการดูแลทั้ง ระบบรถ ระบบราง และระบบเรือ มีการจัดเตรียมสถานที่สำหรับให้ประชาชนจอดรถส่วนบุคคล รถตู้ รถบัส จำนวน 26 จุด สามารถรองรับได้ 38,000 คัน ตามสถานที่ราชการ และห้างสรรพสินค้าโดยรอบ จากนั้น จะมีรถ ชัสเตอร์บัส รับบริการประชาชนเข้ามายังบริเวณงานพระราชพิธีฯ
ประชาชนที่เดินทางมาระบบราง(รถไฟ)จาก 4 ทิศทาง จ.พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร เมื่อเดินทางมาถึงปลายทางกรุงเทพฯ ก็จะมีรถชัสเตอร์บัส รับส่งมาพื้นที่ชั้นในเช่นกัน ส่วนรถไฟฟ้า ก็จะมีรถชัสเตอร์บัสบริการด้วย
ผู้ที่เดินทางโดยเรือ มาขึ้นได้ที่ท่าเรือท่าช้าง ท่าเตียน ท่าปิ่นเกล้า และท่าปากคลองตลาด
ผู้ที่โดยสารเรือจากคลองแสนแสบ มาขึ้นลงได้ที่ท่าเรือผ่านฟ้า และคลองผดุงกรุงเกษม และท่าวิสุทธิกษัตริย์ และมีจุดพักคอย 7 จุด เช่นที่บ้านมนังคศิลา บ้านพิษณุโลก สนามม้านางเลิ้ง สะพานพระราม 8 ฝั่งกรุงเทพฯ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งกรุงเทพฯ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และวัดเทพศิรินทร์
เพื่อให้บริการประชาชนและนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโรงครัวพระราชทาน
มีจอภาพ LED ขนาดใหญ่ ถ่ายทอดบรรยากาศต่างๆของงานพระราชพิธีทั้งหมดให้ได้ชม มีการจัดนิทรรศการ ให้บริการด้านการแพทย์ มีดนตรี
ภายในบริเวณงานจะมีจุดคัดกรอง 21 จุด เข้ามาในแก้มลิง มีจุดคัดกรองอีก 27 จุด และมีจุดการแพทย์ 43 จุด จะมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินคอยดูแลรับส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และจั้งจุดบริการการแพทย์ ทุก 250 เมตร รอบบริเวณงาน และมีรถสุขาเคลื่อนที่ 48 คัน กระจายตามจุดต่าง ๆ 6โซน มีการติดตั้งจอ LED ขนาดใหญ่ 25 จอ มีโทรทัศน์ขนาด 49 นิ้ว 20 จุด ติดตั้งในจุดต่างๆให้ประชาชนได้ชมการถ่ายทอดงานพระราชพิธีตลอดงาน
ในวันเสด็จสถลมารค สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนจึงให้เจ้าหน้าที่นำเสื่อ เบาะรองนั่ง และหญ้าเทียม รองนั่ง เพื่อป้องกัน เพราะอากาศร้อนขณะนั่งรอรับเสด็จฯในวันที่ 5 พ.ค.นี้
ตลอดเส้นทางขบวนเสด็จผ่านมีจุดให้บริการทางการแพทย์ 43 จุด และยังมีแพทย์พยาบาลเดินไปตามที่มีพี่น้องประชาชนนั่งอยู่ด้วย
มีโรงครัวพระราชทานทั้งหมด 18 แห่ง อยู่ในพื้นที่ชั้นใน 10 แห่ง พื้นที่ชั้นนอก 8 แห่ง เพื่อบริการพี่น้องประชาชน และมีรถสุขาของ กทม.ให้บริการตามจุดต่างๆ
การปิดการจราจร ในวันที่ 2 พ.ค.จะปิดการจราจรบริเวณโดยรอบพระลานพระราชวังดุสิต เช่น ถนนอู่ทองใน ถนนศรีอยุธยา ถนนพิษณุโลก และเมื่อขบวนเสด็จผ่านแล้วก็จะเปิดการจราจร
จุดที่ 2 บริเวณรอบพระบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า จะปิดตั้งแต่เวลา 10.00 เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้วก็จะเปิดการจราจร
จุดที่ 3 บริเวณพระบรมมหาราชวังจะปิดการจราจร
วันที่ 3 -5 พ.ค. จะปิดการจราจรต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 5 พ.ค.จะปิดการจราจร 34 สาย โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และจิตอาสาด้านการจราจรประจำตามจุดต่างๆ
สอบถามสายด่วน 1599 ,1197 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ www.trafficpolice.go.th
นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานคร มีความพร้อม 100 % ทั้งเรื่องถนน และแสงสว่าง รวมถึงการให้บริการด้านอาหาร รถสุขา การเก็บขยะ รวมถึงสถานที่พักพิง มี 6 จุด อาทิ วัดเทพศิรินทร์ บ้านมนังคศิลา สนามม้านางเลิ้ง สะพานพุทธ บ้านพิษณุโลก และใต้สะพานพระราม 8 และที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ(ไทย-ญี่ปุ่น) มีสถานที่พักพร้อมเครื่องนอนรองรับประชาชนจำนวน 1,000 คน มีบริการน้ำดื่ม 350,000 ขวด มีรถสุขา 48 คัน ใน 6 จุด และกระจายตามโซนต่างๆ 38 คัน รวมถึงบริเวณที่จอดรถ 4มุมเมือง 10 คัน มีหน่วยบริการประชาชน 66 จุด ทุก 200 เมตร
นางบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ทางกรมได้แจ้งให้ สถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยฯ สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย 98 แห่ง ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อการประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่งานพระราชพิธีให้นานาประเทศได้รับรู้ถึงความงดงามของโบราญราชประเพณีในพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งของชาติไทย
พ.ต.อ.หญิงวนิดา แถลงว่า ขอให้สื่อมวลชนปฏิบัติตนถูกต้องตามข้อกำหนด ทั้งเรื่องการแต่งกาย ประเภทกล้องที่อนุญาตให้ใช้บันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดสัญลักษณ์(Tag)และบันทึกภาพในจุดที่กำหนด รวมถึงบันทึกภาพที่เหมาะสมและสมพระเกียรติ
matemnews.com
26 เมษายน 2562