เมื่อตอนเช้าวันที่ 31 ส.ค.2560 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้พิพากษาศาลได้ออกนั่งบัลลังค์ อ่านคำสั่งศาลฎีกาในการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 53 ปีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 67 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน
ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.- 19 พ.ค. 2553 ทำให้ นายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
คดีนี้ ในชั้นสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้ต่อสู้ประเด็นการสอบสวนและดำเนินคดีว่า ไม่ได้เป็นอำนาจของดีเอสไอ ที่จะรวบรวมหลักฐานสรุปสำนวนฟ้องให้อัยการ แต่การสอบสวนเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ซึ่งหลังจากอัยการยื่นฟ้องคดีและก่อนที่ศาลอาญาจะพิจารณาคดี ทั้งสองได้ยื่นคำร้องวันที่ 10 มิ.ย. 2557 ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย
ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2557 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ และให้ยกคำร้องที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่บาดเจ็บ กับนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพัน ที่เสียชีวิตขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย
ต่อมาอัยการโจทก์, นายสมร กับนางหนู ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความยื่นอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2559 มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งเห็นว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัวตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19, 66 และรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 250 (2) ประกอบมาตรา 275
การที่โจทก์และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวน การฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
ส่วนนายสมร และนางหนูชิต ที่ร้องขอเป็นโจทก์ร่วมนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นก็ชอบแล้ว
อัยการโจทก์และโจทก์ร่วม ได้ยื่นฎีกาว่าข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ได้นำผลชันสูตรผู้เสียชีวิตมากล่าวหาตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่า ซึ่งคดีนี้ต้องให้ศาลอาญาเป็นผู้วินิจฉัย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีบุคคลถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ได้ให้ ศอฉ. ดำเนินการควบคุมให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่าน และให้ใช้อาวุธปืนเท่าที่จำเป็น จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. มีการให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงและพลแม่นปืน การออกคำสั่งขอให้สลายการชุมนุมเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตและได้รับอันตราย ซึ่งแสดงว่าตามคำฟ้องโจทก์ได้อ้างการออกคำสั่งดังกล่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการกล่าวหาผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 250 (2), 275 ที่ให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปผลพร้อมทั้งความเห็นการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2) , 66 วรรคหนึ่ง, 70 เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง,พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1), 10, 11, 24 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 เมื่อจะต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่วินิจฉัยแล้ว การที่ดีเอสไอได้สอบสวนแล้วสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลอาญานั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการและช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ขณะที่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และมีคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 142 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน
matemnews.com 31 สิงหาคม 2560