วันที่ 17 พ.ค.62 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีริบทรัพย์คดีหมายเลขดำ อม. 282/2560 พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง จำเลยร่วมคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นอดีตเลขานุการของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จำนวน 896,554,760.28 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลฎีกาฯ ได้ประกาศคำร้องของอัยการสูงสุดในคดีริบทรัพย์นี้ในที่เปิดเผยแล้ว พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้มีชื่อครอบครองทรัพย์สินนั้นไม่ยื่นคำคัดค้าน และไม่ประสงค์คัดค้านคำร้อง
ซึ่งวันนี้ฝ่ายอัยการสูงสุด มีผู้แทนมาร่วมฟังคำพิพากษา ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวไม่มีใครมาศาล คงมีเพียงทนายความรับมอบอำนาจมาฟังคำสั่งศาลเท่านั้น
ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานตามคำร้องของอัยการสูงสุด และตามทางไต่สวนประกอบรายงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เห็นว่าบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ประกอบด้วยที่ดิน, รถยนต์, หลักทรัพย์ และบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ ของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา, ญาติและคนสนิทของผู้ถูกกล่าวหา มีมูลค่าสูงไม่สอดคล้องกับรายได้ที่มีอยู่ ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นภาระของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา ต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์สินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือไม่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แต่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาพิสูจน์ ศาลจึงฟังพยานของอัยการสูงสุด ผู้ร้อง และหลักฐานของ ป.ป.ช. เห็นว่า ทรัพย์สินทุกรายการตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ซึ่งได้มาจากพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติตามหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวบรวมมา
พิพากษาว่า ทรัพย์สินตามคำร้องนั้น เป็นทรัพย์สินที่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหามีเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงให้ทรัพย์สินดังกล่าวรวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่อาจบังคับคดีเอาทรัพย์สินตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นได้ทั้งหมดหรือได้แต่บางส่วน ให้บังคับคดีเอาทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุความ 10 ปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 38, 80 ประกอบมาตรา 83
ที่มา สำนักข่าวอิศรา อ่านเพิ่มเติม http://bit.ly/2VJfm1t