Home ข่าวทั่วไปรอบวัน รมช.คมนาคม ลงพื้นที่แหลมฉบังกรณีไฟไหม้ตู้ขนสินค้า – ย้ำเป็นเคส Study

รมช.คมนาคม ลงพื้นที่แหลมฉบังกรณีไฟไหม้ตู้ขนสินค้า – ย้ำเป็นเคส Study

513
0
SHARE

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บนเรือ KMTC HONGKONG ณ ท่าเทียบเรือ บริษัท ไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ท่าเทียบเรือ A2) ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขาฯ รมว.คมนาคม นายวิทยา ยาม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.62) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้รับฟังรายงานความคืบหน้าการเกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บนเรือ KMTC HONGKONG เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เรือดังกล่าวเป็นสายเรือเกาหลี บรรทุกสินค้านำเข้าจากจีน โดยตู้ที่เกิดเพลิงไหม้ จำนวน 13 ตู้ พบว่าเป็นสาร CALCIUM HYPOCHLORITE เป็นสารผสมหลักของผลิตภัณฑ์ผงฟอกขาวใช้ในการปรับสภาพน้ำ ซึ่งตู้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าผ่านท่าไม่ได้ขนถ่ายลงที่ท่าเรือแหลมฉบัง และเจ้าของไม่ได้สำแดงว่าเป็นสินค้าอันตราย

สำหรับความเสียหายและผลกระทบจากเหตุดังกล่าวส่งผลให้เรือ ตู้สินค้าจำนวน 35 ตู้ และทรัพย์สินอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย รวมทั้งมีผู้สัมผัสสารเคมี จำนวน 229 คน ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังอักเสบ และระคายเคืองตา ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 78 คน พักรักษาตัวที่บ้าน จำนวน 151 คน ปัจจุบันยังคงมีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 1 คน ในเบื้องต้นสายเรือเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายและประกันภัยของสายเรือได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว

นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน เยียวยา และลดผลกระทบ ดังนี้

1) มาตรการป้องกัน ควบคุมให้ประกอบการขนถ่ายสินค้า ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานสินค้าอันตราอย่างเคร่งครัด รวมถึงเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดต่อไป เฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ

2) มาตรการเยียวยาและลดผลกระทบ ลงพื้นที่เพื่อแจกหน้ากากอนามัยให้กับชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทันที จัดตั้งคณะทำงานในการพิจารณาการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ผู้ประกอบการท่าเรือ A2 และสายเรือ KMTC เฝ้าติดตามตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำและอากาศ โดยท่าเรือแหลมฉบัง กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทั้งนี้ รมช.คมนาคม มอบให้กรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยศึกษาเรียนรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมหลักฐานให้กับเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจพิสูจน์ร่วมกัน และประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ข้อมูล  PR LCP