Home ข่าวทั่วไปรอบวัน บาป 7 ประการ : อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ

บาป 7 ประการ : อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ

452
0
SHARE

 

 

เฟชบุ้ค Abhisit Vejjajiva

https://bit.ly/2WDfMGD

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนทางการเมืองที่ โถงด้านล่าง หอประชุมใหญ่ บริษัททีโอที ก่อนที่จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ มีใจความว่า

.

 

ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ที่ผ่านมา ผมได้แสดงจุดยืนทางการเมืองไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่า ผมไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง การแสดงจุดยืนของผมในขณะนั้น เป็นการแสดงจุดยืนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจุดยืนที่แถลง ผมมั่นใจว่ามีความสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่วันก่อตั้งพรรคฯ ซึ่งเป็นเวลามากว่า ๗๐ กว่าปีแล้ว และยังสอดคล้องกับเป้าหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้ง นั่นก็คือเราต้องการที่จะเห็น “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด สำหรับสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าผมจะได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่มีพี่น้องประชาชนเกือบ ๔ ล้านคนที่ได้ตัดสินใจลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยทราบดีว่า จุดยืนที่ผมในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงไว้นั้นเป็นอย่างไร

 

 

ผมต้องขอถือโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องประชาชนเกือบ ๔ ล้านคนที่ได้ให้การสนับสนุนจุดยืนของผม และพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น และผมสำนึกในบุญคุณของคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา และตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องพยายามทำให้สิ่งที่พี่น้องประชาชนสนับสนุนนั้นมีความเป็นจริงให้ได้

 

 

นับตั้งแต่การเลือกตั้งผ่านพ้นมา ผมก็ยังได้ยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าว ได้พยายามที่จะโน้มน้าวบรรดาสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคประชาธิปัตย์ให้รักษาจุดยืนดังกล่าวไว้ และจนถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันจุดยืนของผมเช่นเดิม ซึ่งผมมองว่าทั้งพฤติกรรมและเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ผมได้แสดงจุดยืนมาจนถึงวันนี้ ยืนยันว่า ประเทศชาติยังต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ และประชาธิปไตยสุจริต

 

 

สิ่งที่พวกเราหลายคนได้ประสบมาในช่วงการเลือกตั้ง ที่ได้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐ ใช้เงิน การได้คะแนนเสียงมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ ไล่เรียงมาจนถึงการกระทำอื่น ๆ เช่น พฤติการณ์ในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา พฤติการณ์ที่มีการแทรกซึมเข้าไปในสื่อมวลชนบางแขนง พฤติกรรมที่ส่งผลให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบทัดทาน รักษาความถูกต้องตามกติกาได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมยืนยันว่ายังมีอยู่จริง และจึงทำให้สิ่งที่เราใช้คำว่า “การสืบทอดอำนาจ” จึงไม่ใช่เรื่องของวาทกรรม แต่เป็นความเป็นจริง เป็นความเป็นจริงซึ่งไม่แตกต่างจากพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ในวันที่ผมยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

 

 

พฤติกรรมหลายอย่างที่เหมือนกัน ถ้าท่านนึกไม่ออก ผมขอแนะนำให้ท่านไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่ชื่อ Animal Farm แล้วท่านจะได้ซาบซึ้ง และเข้าใจว่าพฤติการณ์ของการต่อต้าน ต่อสู้กับบางสิ่งบางอย่าง แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วกลับกระทำเสมือนกันทุกประการนั้นเป็นอย่างไร ผมหวังว่าผมคงไม่ต้องแนะนำให้มาอ่านหนังสือเล่มต่อไปของผู้เขียนคนเดียวกันที่ชื่อ 1984 ท่านไปดูก็แล้วกันว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร

 

 

เมื่อพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นเช่นนี้ ผมก็ได้พยายามอย่างมากเมื่อวานนี้ในการประชุมร่วม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นควรจะเลือกเส้นทางไหน ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่าบัดนี้ ประชาธิปัตย์ได้มีมติในการที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และจะเข้าไปร่วมรัฐบาล ด้วยความเคารพในมติของเสียงข้างมาก ผมก็ต้องยืนยันว่าผมไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ได้บอกกับที่ประชุมไปแล้วว่า เมื่อพรรคฯ มีมติเช่นใด สมาชิกพรรค ก็ควรที่จะปฏิบัติเช่นนั้น ไม่มีการไปฝ่าฝืนมติพรรค

 

 

ที่ผมไม่เห็นด้วย ยอมรับครับว่า ยังแอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่าสิ่งที่พรรคฯ พยายามจะทำ จะประสบความสำเร็จ นั่นก็คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงความตั้งใจของเพื่อน ๆ ในพรรคฯ ที่อยากจะไปทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องให้กับประชาชน

 

 

แอบหวังลึก ๆ ว่าคนที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปพายเรือให้จะกลับใจสร้างประชาธิปไตย และสร้างธรรมาภิบาล แต่ที่ผมยังยืนยันจุดยืนเดิมนั้น เพราะผมเสียดายโอกาส โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง สามารถที่จะสร้างพื้นที่ทางการเมือง ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติในระยะยาว ด้วยการทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่ ๓ ที่เป็นกลาง พร้อมที่จะตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งก็เป็นที่คาดหมายกันว่าก็คงจะเป็นการตั้งรัฐบาล โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง อะไรที่ดี พรรคฯ ก็สามารถสนับสนุนได้ อะไรที่ไม่ดี พรรคฯ ก็ควรที่จะตรวจสอบและมีความอิสระในการที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย เป็นการถ่วงดุลการที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขต และทำให้เห็นคุณค่าของฝ่ายนิติบัญญัติ

 

 

พร้อม ๆ กันไป การสร้างพื้นที่ตรงนี้ ที่ผมเสียดายโอกาส ก็คือการมีพื้นที่ที่จะเริ่มต้นจากพื้นที่เล็ก ๆ แต่เติบโตต่อไป ให้เป็นทางสายหลักของประชาธิปไตย ไม่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาแอบอ้างคำว่าประชาธิปไตยบังหน้า แต่ไม่มีพฤติการณ์ที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

 

ผมเสียดายโอกาสที่เราไม่สามารถที่จะสร้างพื้นที่ที่จะทำให้การเมืองไทย หลุดพ้นจากการถูกบีบบังคับให้เลือกข้างด้วยอารมณ์ ด้วยความเกลียดเผด็จการ หรือ ด้วยการกลัวทักษิณ ผมจึงต้องเรียนกับทุก ๆ ท่านครับว่า ความพยายามของผมนั้น เมื่อไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมก็ต้องมีการตัดสินใจว่าสิ่งที่ผมสมควรจะดำเนินการต่อไปคืออะไร

 

 

ประการแรก สิ่งที่ผมต้องทำ คือกราบขอโทษพี่น้องประชาชนทุกคนที่ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งที่ผ่านมา โดยเข้าใจว่าพรรคฯ จะรักษาจุดยืน คำพูดและอุดมการณ์ของผมที่พูดไปในฐานะหัวหน้าพรรคฯ

 

 

ประการที่ ๒ ในการทำหน้าที่ที่ผมจะต้องทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ เมื่อมีการประชุมรัฐสภา ก็คือวาระของการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ผมคงไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องประชุมและลงคะแนนที่เป็นการฝ่าฝืนมติของพรรคได้ ผมเป็นนักการเมืองซึ่งสนับสนุนระบบพรรคการเมือง ได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรค ยาวนานกว่า ๑๐ ปี ผมทราบดีว่า นักการเมืองที่ดี สมาชิกที่ดีต้องมีวินัย จะให้ผมเดินเข้าไป แล้วผมออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีก คือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนและประเทศ

 

 

ผมขอบคุณเพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวานนี้ ที่พยายามเสนอทางออกให้แก่ผม ใช้คำว่า อยากจะช่วยรักษาเกียรติภูมิให้กับผม ด้วยการเสนอให้ผมงดออกเสียง ผมได้ตอบไปในที่ประชุมครับว่า พรรคฯ คงไม่มีหน้าที่ที่จะมารักษาเกียรติภูมิให้กับคนหนึ่งคนใด พรรคฯ มีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของพรรค ส่วนการรักษาเกียรติภูมิของผมเป็นหน้าที่ของผม ผมจึงปฏิเสธแนวทางที่จะให้ผมเป็นข้อยกเว้น แล้วก็งดออกเสียงในที่ประชุมในวันนี้

 

 

แต่ผมทราบดีครับว่า ปัญหาทั้งหมดมันไม่จบในวันนี้หรอกครับ ทุกสัปดาห์ผมก็ต้องมาเผชิญกับปัญหานี้อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับที่สัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องยอมรับว่าใน ๒๗ ปีของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผม ไม่เคยอึดอัดเท่ากับการลุกขึ้น ลงมติเพื่อให้เลื่อนการเลือกประธานสภา ทั้งที่ไม่มีเหตุผลที่จะตอบกับสังคม ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้ ขอโทษกับพี่น้องประชาชน แต่ผมทำไปเพราะว่าผมไม่ต้องการฝืนมติพรรค แล้วลดน้ำหนักในการที่ผมจะไปต่อสู้ภายในพรรค เพื่อที่จะให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในเรื่องที่ใหญ่กว่า

 

 

ดังนั้นเมื่อมาถึงวันนี้ ผมก็เหลือทางเดียวครับ ที่จะรักษาเกียรติภูมิ ไม่ใช่เฉพาะของผม แต่เกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า “สจฺ จํ เว อมตา วาจา” ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน เพราะการทำงานทางการเมืองของผมนั้น ผมยึดถืออุดมการณ์ และหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเลื่อนลอย แต่เพราะผมเชื่อว่าการเมืองที่มีอุดมการณ์ และหลักการเท่านั้น ถึงจะสามารถสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวได้

 

 

คานธี เคยส่งจดหมายให้กับหลานครับ พูดถึงบาป ๗ ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปครับ ขอบคุณครับ

 

 

 

 

มหาตมะ คานธี นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย เคยเขียนจดหมายถึงหลาน เรื่องบาป 7 ประการไว้ ข้อแรกคือ “เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ”
บาป 7 ประการที่ว่านี้ระบุไว้ในหนังสือ ‘ข้าพเจ้าทดลองความจริง : อัตชีวประวัติของมหาตมาะ คานธี (The Story of My Experiments with Truth)’ แปลโดย อาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย มีเนื้อหาว่า

1.Politics without principles.
เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ

2.Pleasure without conscience.
หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด

3.Wealth without work.
ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน

4.Knowledge without character.
มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี

5.Commerce without morality.
ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลธรรม

6.Science without humanity.
วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์
7.Worship without sacrifice.

บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ

 

 

matemnews.com 

5 มิถุนายน 2562