Home ข่าวทั่วไปรอบวัน กฎหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ – อ่านแล้วงง

กฎหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ – อ่านแล้วงง

403
0
SHARE

 

 

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าว ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเมื่อบ่ายวันที่ 20 มิ.ย.2562 เรื่อง “บ้านปลอดบุหรี่ ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ” ว่า

 

ขณะนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค. 2562 การสูบบุหรี่ในบ้านจะสามารถเอาผิดได้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากคำนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย ดังนั้นหากใครได้รับผลกระทบ หรือพบเห็นผู้ได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนได้ที่  ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่  หากได้รับผลกระทบจริง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยศาลสามารถสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณีและให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้ ส่วนการลงโทษจะใช้คดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เรียกว่า 1 คดี ส่งขึ้น 2 ศาล ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ แต่การได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้   กฎหมายนี้คุ้มครองการกระทำภายในครอบครัวเท่านั้น หากได้รับผลกระทบจากคนข้างบ้าน ไม่เข้าข่ายตามกฎหมายนี้

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ควันบุหรี่ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้สูบบริเวณนอกบ้านก็ยังคงมีสารพิษตกค้างอยู่ภายในบ้านได้ ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่มาฉีดวัคซีนที่ รพ.รามาธิบดี 75 ราย ที่มีประวัติมีคนในบ้านสูบบุหรี่ พบว่าร้อยละ 76 มีสารโคตินินในปัสสาวะ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 43 มีค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซีถึง 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ทาวน์เฮาส์ ทั้งนี้ หากคนในบ้านสูบมากกว่า 20 มวน จะเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็กมากกว่าเกือบ 2 เท่าเช่นกัน

 

ดังนั้นจึงมองว่ากฎหมายของ พม.ที่ออกมาเป็นเรื่องดี แต่มีข้อเสนออีก 3 ประการ คือ

 

1.ครัวเรือนควรรับรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ โดยเฉพาะเรื่องพิษมือสองมือสาม และพิษต่อเด็ก

 

2.ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เมื่อตรวจสุขภาพเด็กหรือฉีดวัคซีน หากทราบประวัติของเด็กว่าคนในบ้านมีการสูบบุหรี่ ควรดำเนินการให้คนในบ้านเข้ารับการบำบัด หากไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก คือ การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม

 

3.การสูบบุหรี่ในพื้นที่ยูนิตรวม เช่น คอนโด อพาร์ทเมนท์ ถือเป็นการทำร้ายผู้อื่น เพราะเป็นสถานที่ที่ใช้อากาศร่วมกัน จึงควรมีการห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในห้อง หรือนิติบุคคลต้องประกาศให้ชัดแต่แรกว่า โครงการนี้ห้ามสูบบุหรี่ในห้องหรือสูบได้ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อหรือไม่ซื้อ เหมือนการประกาศห้ามเลี้ยงสุนัขหรือแมวในห้อง ยิ่งการสูบบุหรี่ที่เป็นการทำร้ายร่างกายคนอื่น ก็ควรใช้หลักคิดเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงการสูบบุหรี่ในรถสาธารณะด้วย

 

 

matemnews.com 

20 มิถุนายน 2562