Home ข่าวทั่วไปรอบวัน 27 ส.ส.พปชร.ยื่นศาลธรรมนูญแล้วขอให้จำหน่ายคดีถือหุ้นสื่อ

27 ส.ส.พปชร.ยื่นศาลธรรมนูญแล้วขอให้จำหน่ายคดีถือหุ้นสื่อ

448
0
SHARE

 

 

นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  ปรากฏตัวที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อบ่ายวันที่ 20 มิ.ย.2562 ยื่นคำร้องช่องรับเรื่องของเจ้าหน้าที่  ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจำหน่ายคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขอให้วินิจฉัยว่า ส.ส.ทั้ง 27 คนของพรรคพปชร.ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นสื่อ และขอให้ศาลไต่สวนว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอและมีมูลที่จะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ และหากศาลสั่งรับให้ไต่สวนว่าควรที่ศาลจะสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพื่อให้โอกาส ส.ส.ผู้ถูกร้องมีแสดงพยานหลักฐาน

 

ยื่นหนังสือแล้ว นายทศพล ให้สัมภาษณ์นักข่าว ว่า จากการตรวจสอบสำนวนดังกล่าวพบว่า 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ยื่นเรื่องนี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 (5) และมาตรา 41 ว่าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ หรือเรื่องความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง ต้องทำเป็นคำร้อง จึงเห็นว่าเมื่อการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็สมควรว่าศาลรัฐธรรมนูญจะจำหน่ายคดี   แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เรื่องนี้สามารถพิจารณาได้ก็ขอให้มีการไต่สวน 2 ครั้ง

 

โดยครั้งแรกเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ เพราะเรื่องนี้เป็นการยื่นมาโดยไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมพยานหลักฐานมีเพียงเอกสาร ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนกัน และทั้ง 27 คนไม่ได้มีโอกาสชี้แจง แต่อยู่ๆ ก็มีคนเอาเอกสารมาแล้วบอกว่าผิด  ถือว่าต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกร้องโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งผ่านการชี้แจง  การโต้แย้ง มีการหอบเอกสารมาเป็นลัง แต่ประชาชนไม่เข้าใจ คิดว่าเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วไม่เหมือนกัน เพราะกรณีของ 27 ส.ส.ไม่ได้ผ่านกระบวนสืบสวนสอบสวน รวบรวม พยานหลักฐาน และไม่มีการชี้แจงเลย เราจึงต้องการเพียงโอกาสในการชี้แจง เราขอโอกาสพิจารณาคดีเหมือนของ นายธนาธร เท่านั้นเอง และถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนและรับเรื่องไว้พิจารณา ก็ให้ไต่สวนอีกครั้งเพื่อให้พิจารณา พยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย ก่อนที่จะมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

 

นักข่าวจึงบอกว่า  ก่อนหน้านี้ที่ผ่านๆมาศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องก่อน   จึงจะมีการไต่สวน นายทศพล ตอบว่า

 

ที่ผ่านมาอาจจะไม่มีคนขอ และที่ผ่านมาใช้ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนด แต่ในครั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่เพิ่งออกมาใหม่พร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้ชัดว่า   อะไรที่ยื่นเป็นคำร้อง และอะไรยื่นเป็นหนังสือ ดังนั้นถ้าเราบอกว่าการยื่นคำร้องมันผิดแล้วมีการพิจารณาไป  คำวินิจฉัยก็จะผิด ดังนั้นในเมื่อกระบวนการผิดก็ต้องทำให้มันถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลย

 

matemnews.com

20 มิถุนายน 2562