กรมทรัพยากรธรณี โดยศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย รายงาน การศึกษาด้านภัยพิบัติดินถล่ม ในปี 2562 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มใน 54 จังหวัด 332 อำเภอ 1,084 ตำบลทั่วประเทศ โดยดินถล่มในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่าช่วงอื่นของปี
โดยภาคเหนือ มีโอกาสเกิดดินถล่มมากช่วง พ.ค.-ก.ย.
ภาคใต้มีโอกาสเกิดดินถล่ม ช่วงก.ย.- ธ.ค.
ส่วนภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเฉียงเหนือ มีโอกาสเกิดดินถล่มช่วง พ.ค.-ก.ย.พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่าน
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกประจำกรม กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมิถุนายน บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม โดยพื้นที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยดินถล่ม ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี พังงา ระนอง และจังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนกรกฎาคม ช่วงครึ่งหลังของเดือนจะมีฝนตกชุกมากขึ้น ทั่วประเทศจะมีฝนมากกว่าค่าปกติ ซึ่งอาจทำให้บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มขึ้นได้ โดยพื้นที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยดินถล่ม ได้แก่ ภาคตะวันออก ในจังหวัดตราด จันทบุรี และสระแก้ว ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในจังหวัดพังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร ภาคเหนือ ในจังหวัดน่าน แพร่ เพชรบูรณ์ และตาก
ขณะที่สิงหาคม จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีปริมาณฝนมากขึ้นบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจทำให้บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม โดยพื้นที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยดินถล่ม ได้แก่ภาคเหนือ ในจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองคาย และอุบลราชธานี
โดยกรมทรัพยากรธรณี ติดตามตรวจสอบสภาพอากาศ และสิ่งบอกเหตุก่อนเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จากเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย ะรายงานข้อมูลแจ้งเตือนผ่านทางเว็บไซด์ ระบบสื่อสาร SMS Application Lineและ Face book และเครือข่ายเฝ้าระวัง เพื่อสามารถแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงให้เตรียมรับมือ ป้องกัน และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที