นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน 27 มิ.ย.2562 ว่า เดือนกรกฎาคมนี้ สศค.เตรียมปรับคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ลดลงจากปัจจุบันร้อยละ 3.8 สอดคล้องกับหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เพราะยังเผชิญกับแนวโน้มการส่งออกชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ 77
การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อมี ครม.ใหม่เข้ามาทำงานคงต้องประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังร่วมกันทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่คลังยังคาดว่าการเติบโตยังดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะหลายโครงการจะขับเคลื่อนไปได้ และเศรษฐกิจไตรมาส 3-4 ปี 2561 มีฐานค่อนข้างต่ำ เพื่อหาช่องทางดูว่าจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมืออะไร มาพยุงเศรษฐกิจบ้าง
ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 5 เพราะการบริโภคในประเทศยังขยายตัวระดับน่าพอใจ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 64.8 แม้ว่าการส่งออกติดลบร้อยละ 5.8 โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนติดลบร้อยละ 7.2 ขณะที่การนำเข้าติดลบร้อยละ 0.6 สินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เชื้อเพลิง
ภาคเกษตรสามารถกลับมาขยายตัวได้ เพราะราคาสินค้าเกษตรหลายตัวปรับสูงขึ้น โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.6 จากหมวดพืชผลสำคัญที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 และหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 1.5 สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่ม คือ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 2.73 ล้านคน ชะลอลงร้อยละ 1 เป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่า 134,560 ล้านบาท แต่หลังจากนี้คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมร้อยละ 1.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเริ่มเดินหน้าโครงการลงทุน คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยับสูงขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก
matemnews.com
27 มิถุนายน 2562